IMDB : tt12262116
คะแนน : 9
หากเทียบกับ ‘The Cave นางนอน’ แล้วสิ่งที่ ‘Thirteen Lives’ ใช้เป็นโครงเรื่องก็มีบางส่วนที่ทาบทับกันสนิททั้งเรื่องของนักดำน้ำอังกฤษที่หนังเรื่องแรกใช้เป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง โดยเฉพาะนักดำน้ำชื่อคริส ที่มีในหนังทั้ง 2 เรื่อง แต่สิ่งที่ ‘Thirteen Lives’ ดูจะก้าวข้ามกับดักเรื่องเล่าจากความจริงคือการที่หนังมุ่งนำเสนอ ‘อารมณ์’ ตัวละครเป็นศูนย์กลาง แม้กระทั่งฉากเปิดเรื่องที่แม้จะมีฉากเตะฟุตบอล ฉากจอดจักรยานหน้าถ้ำแล้วเดินเข้าไปเหมือนกัน แต่หนังก็ทำให้เห็นความเป็น “มนุษย์” มากกว่าความเป็น “บุคคลในข่าว” แบบในหนังเรื่องแรก
และเมื่อหนังได้นำเสนอตัวละครฝั่งไทยอย่าง นายณรงศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายขณะนั้นและทีมงานบางส่วนอย่างทีมวิศวกรน้ำที่มีส่วนช่วยในการผันน้ำออกจากถ้ำไปแล้ว การที่หนังไปโฟกัสตัวละครนักดำน้ำในถ้ำอย่าง ริค และ จอห์น พร้อมปูสถานะที่ต่างกันเมื่อฝ่ายแรกคือหนุ่มโสดที่ประกาศตัวว่าไม่ได้ชอบเด็กด้วยซ้ำกับฝ่ายหลังที่เป็นพ่อที่มีลูกชายพร้อมแนวคิดที่แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิงก็สร้างความดรามาติกให้เรื่องราวที่ถูกห่อหุ้มด้วยข้อมูลข่าวสารที่คนทั้งโลกรู้อยู่แล้วได้อย่างลงตัว
รวมถึงการใช้บริการนักแสดงระดับเอลิสต์อย่าง วิกโก มอร์เทนเซน (Viggo Mortensen) และ โคลิน ฟาเรลล์ (Colin Farell)มาแสดงเป็นริคและจอห์นนี่แหละครับคือการดึงให้หนังสามารถโน้มน้าวอารมณ์ผู้ชมได้โดยไม่ลืมที่จะกล่าวถึงบริบทแวดล้อมทั้งภารกิจผันน้ำที่เอาความเสียสละของชาวนาในพื้นที่มาสร้างอารมณ์ดราม่าชวนน้ำตาซึมให้หนังได้อย่างลงตัว หรือกระทั่งภารกิจของจ่าแซมที่ได้เวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ มารับบทบาทสำคัญก็เป็นการให้เกียรติกับความเสียสละของวีรบุรุษได้แบบที่คนไทยเองก็ไม่มองว่าหนังไปโปรต่างขาติเหมือน ‘The Cave นางนอน’ ได้อย่างหมดจดงดงาม
ซึ่งในภาพรวมนอกจากบทหนังที่ถูกเขียนอย่างรัดกุมโดย วิลเลียม นิโคลสัน (William Nicholson) ที่เล่าเรื่องราวได้รอบด้านและเปี่ยมอารมณ์แล้ว การได้ผู้กำกับมากฝีมืออย่าง รอน ฮาวเวิร์ด (Ron Howard) ที่เชี่ยวชาญการทำหนังจากเรื่องจริงมาตั้งแต่ ‘Apollo 13’ ในปี 1995 ซึ่งกับ ‘Thirteen Lives’ โฮเวิร์ดก็ยังโชว์ฝีมือได้จัดจ้านผสานดราม่าผสมกับข้อมูลจริงได้อย่างลงตัวมาก ๆ และที่สำคัญมากคือโฮเวิร์ดใส่หัวใจแบบคนไทยลงไปในเรื่องราวด้วยเลยทำให้ภาพรวมของหนังไม่ได้เนยนมเสียจนกลบความกลมกล่อมและมีรสชาติแบบไทย ๆ เสียทีเดียว
เห็นได้จากการที่หนังใช้ภาษาไทยในการดำเนินเรื่องถึง 60% และการนำเสนอพิธีกรรมความเชื่อแบบไทย ๆ ที่ถูกถ่ายทอดได้อย่างลงตัวผ่านงานถ่ายภาพของ สยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพชาวไทยที่ถ่ายทอดทั้งความงามของภูมิทัศน์ ความโหดร้ายชวนลุ้นระทึกใต้น้ำในถ้ำและภาพสุดดรามาติกของการรวมใจของคนทั้งโลกในพื้นที่เกิดเหตุ ภายใต้การออกแบบงานสร้างที่บันดาลให้พื้นที่ถ่ายทำในออสเตรเลียกลายเป็นถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนได้แนบเนียนไม่น้อยซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นฝีมือคนไทยอย่าง สราวุฒิ ชินเจริญ โปรดักชันดีไซเนอร์มือต้น ๆ ของไทยไปร่วมทีมกับทาง มอลลี ฮิวจ์ส (Molly Hughes) ดีไซเนอร์หลักของหนังจนทำให้งานสร้างของหนังออกมาสมจริงแนบเนียนจนดูแทบไม่รู้เลยว่าหนังไปถ่ายทำกันถึงประเทศออสเตรเลีย