IMDB : tt7958326
คะแนน : 10
ผู้ซื้อขาย / Sovdagari เป็นหน้าต่างเล็ก ๆ จริงๆ อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนั้น มันให้ความจริงอันเยือกเย็นแก่โครงสร้างทางสังคมที่ตั้งขึ้นในส่วนอื่นๆ ของโลก ในพื้นที่ชนบทของจอร์เจีย เงินถือเป็นโมฆะในฐานะสกุลเงิน ความยากจนมีอยู่มากมาย และคุณค่าอย่างหนึ่งที่ผู้คนต้องพึ่งพาคือมันฝรั่ง ใช่ผักเป็นวิธีการเจรจาและการชำระเงิน
ภาพยนตร์ “สารคดีสั้น” สัญชาติจอร์เจียความยาว 23 นาที ในชื่อว่า “Sovdagari” หรือชื่อภาษาอังกฤษ “The Trader” มีความเรียบง่าย เงียบขรึม แต่พลันที่ดูจบเป็น 23 นาที ที่ส่งเสียงดัง และมี “พลัง” ในการพูดถึง “ความยากจน” ที่ชวนคิดไปถึงระดับ “โครงสร้าง” เลยทีเดียว
ด้วยอานุภาพที่ทุกซีนทุกฉากอันแสนเรียบง่ายนั้น ยิ่งกลับทำให้คนดูต้องนิ่งงัน
ผลงานกำกับโดย “Tamta Gabrichidze” ผู้กำกับหญิงชาวจอร์เจีย ประเทศที่ภูมิศาสตร์ตั้งอยู่เกือบสุดขอบทวีปเอเชีย ซึ่งเธอพาหนังสารคดีสั้นเรื่องนี้คว้ารางวัลภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยมจาก “เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์” เมื่อปีที่ผ่านมา
ใน “The Trader” ติดตามชีวิตของ “เกล่า” พ่อค้าเร่ที่ตระเวนเข้าไปขายสินค้ามือสองในชนบทของสาธารณรัฐจอร์เจีย ของที่เขาบรรทุกใส่รถตู้ไป โดยมากเป็นสินค้าเบ็ดเตล็ด ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป
ความน่าสนใจคือในชนบทอันห่างไกลจากเมืองหลวงของจอร์เจีย ที่นั่นสิ่งแลกเปลี่ยนสินค้ามือสองของชาวบ้านไม่ใช่ “เงิน” แต่เป็น “มันฝรั่ง” ที่ชาวบ้านชาวไร่ตามหมู่บ้านในชนบทปลูกกันโดยทั่วไป
หนังสารคดีเปิดเรื่องด้วยชายคนหนึ่งที่ชื่อ “เกล่า” กำลังขับรถไปที่ไหนสักแห่ง ก่อนที่เขาจะปรากฏตัวอยู่ในแหล่งขายสินค้ามือสอง และเข้าไปค้นหาคัดเลือกสินค้าต่างๆ
ช่วงแรกคนดูอาจจะสงสัยว่าชายผู้นี้กำลังทำอะไร ก่อนจะรู้ต่อมาว่าเขาคือ “พ่อค้าเร่” ที่ขับรถตู้ไปตระเวนเสนอขายสินค้ามือสองตามชนบทห่างไกล โดยสินค้าที่ขายนั้น เขาจะแลกกับ “มันฝรั่ง” วัดเทียบเป็นจำนวนกิโลกรัมแทน “เงิน” ซึ่งสินค้าที่เขาขายก็เป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่แลกเปลี่ยนได้ง่ายๆ อาทิ รองเท้า เสื้อโค้ต หรือเครื่องสำอาง แม้กระทั่งผลไม้อื่นก็นำไปแลกกับมันฝรั่งได้
ผ้าพันคอที่แม่บ้านในชนบทลองนำมาพันแล้วถูกใจ ก็ขายแลกกับมันฝรั่ง 5 กิโลกรัม หรือรองเท้าบู๊ตที่แลกกับมันฝรั่งเกือบ 20 กิโลกรัม
ก่อนที่หนังสารคดีเรื่องจริงนี้จะพาไปดูชีวิตผู้คนในชนบทที่ช่วยกันเก็บเกี่ยวมันฝรั่งในไร่ พูดคุยกันสัพเพเหระว่าถ้ารถขายสินค้าของเกล่ามาถึงหมู่บ้านเมื่อไร ใครตั้งใจจะซื้ออะไรบ้าง ด้วยผลผลิตมันฝรั่งที่จะนำไปแลกกับข้าวของที่พวกเขาอยากได้ หรือของเล่นให้ลูกหลาน ซึ่งทั้งหมดเป็นของมือสองที่สภาพใช้การได้
ขณะเดียวกันสารคดียังสลับกับการถ่ายทอดให้เห็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่ดูไม่เห็นอนาคตที่ดีไปกว่านี้ บ้างก็ถึงกับเป็น “ชะตากรรม” ที่ไร้ความหวังด้วยซ้ำ