IMDB : tt0338751
คะแนน : 8
The Aviator สามารถคว้ารางวัลออสการ์ครั้งที่ 77 มาได้ 5 รางวัลจากการถูกเสนอชื่อเข้าชิงถึง 11 สาขา โดย The Aviator สามารถคว้ารางวัลออสการ์มาครองได้ในสาขา ดาราสมทบหญิงยอดเยี่ยม (Cate Blanchett) , รางวัลกำกับภาพยอดเยี่ยม , รางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยม , รางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และสุดท้ายรางวัลเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม
The Aviator เป็นเรื่องราวเกี่ยวชีวิตในวัยหนุ่มของ โฮเวิร์ด ฮิวส์ (Leonardo DiCaprio) ชายหนุ่มรูปงามและฉลาดหลักแหลม มหาเศรษฐีพันล้าน เจ้าของอุตสาหกรรมน้ำมันและบ่อนคาสิโน, เสือผู้หญิง, นักบินผาดโผน, ผู้สร้าง และผู้กำกับหนัง Hollywood (Hell’s Angels ในปี 1930) ที่พูดถึงความความฝันและความทะเยอทะยานในเรื่องการบิน และความสัมพันธ์กับนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวูดอย่าง เอวา การ์ดเนอร์, แคทเธอรีน เฮปเบิร์น, เบ็ตตี้ เดวิส และ จีน ฮาร์โลว์
The Aviator แสดงภาพของความรู้สึกและความรักในช่วงนั้นของฮิวจ์ และสาวสวย 2 คน ที่เป็นตำนานของ Hollywood แคทเธอรีน เฮปเบิร์น (Cate Blanchett ) ในยุค 30 และ เอวา การ์ดเนอร์ (Kate Beckinsale) สาวสวยร้อนแรงและสดใสในยุค 40 และการต่อสู้ของชายหนุ่มผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ที่ต้องประสบกับโชคชะตาที่พลิกฝัน ให้ต้องพบกับอุปสรรคทางร่างกายและความหวาดกลัว จนในที่สุดก็ก่อตัวเป็นอารมณ์ที่แปรปรวนมาก และพฤติกรรมที่แปลกแยก ที่นำพาให้เขาปลีกตัวออกจากทุกคนที่อยู่รอบตัว
โฮเวิร์ด ฮิวจ์ เกิดในฮุสตันปี 1905 เขาเป็นทั้งนักธุรกิจบ่อน้ำมัน, สายการบิน, ผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับภาพยนตร์, นักบิน และอีกสารพัดธุรกิจอีกหลายอย่างที่เขาไปเกี่ยวข้อง ตัวเขาเคยสร้างสถิติหลายอย่างตั้งแต่การสร้างและกำกับภาพยนตร์ที่ลงทุนสูงสุดในขณะนั้นอย่าง Hell 's Angels(1930), หรือ The Outlaw(1943) หนังที่มีฉากล่อแหลมต่อการโดนเซ็นเซอร์ที่สุดในยุคนั้น , การสร้างสถิติทางด้านการบินหลายครั้ง รวมไปถึงการเปลี่ยนคู่ควงซึ่งเป็นนักแสดงสาวไม่ซ้ำหน้า ทั้ง จีน ฮาร์โลว์, แคทเธอรีน เฮพเบิร์น, เอวา การ์ดเนอร์ และใช้ชีวิหรูหราราวกับเทพนิยายก็ไม่ปานจนอาจเรียกได้ว่าเรื่องราวของฮิวจ์เป็น American Dream อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวที่ปรากฎในนิยายอย่าง The Great Gatsby ของเอฟ.สก๊อต์ ฟิทซ์เจอรัลด์
แม้ The Aviator จะเป็นหนังชีวประวัติที่แปลกแตกต่างจากชื่อเสียงของผู้กำกับอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ที่โดดเด่นในแนวหนังแก็งสเตอร์และมุมมืดในสังคมนิวยอร์คอย่าง Mean Streets, Taxi Driver, Goodfellas, King of Comedy แต่มันก็ยังคงมีลักษณะความเป็นหนังของสกอร์เซซีอย่างเด่นชัด เรื่องราวส่วนใหญ่ที่เขานำมาเล่านั้นพูดถึงคนที่มีสภาพแปลกแยกจากคนทั่วไปในสังคม และถามหาศรัทธาจากพระผู้เป็นเจ้า(หรือในอีกกรณีหนึ่งก็คือเป็นคนที่ไม่เคยมีสิ่งเหล่านั้น) ไม่ต่างกับที่เขาเคยทำชีวประวัตินักมวยอย่าง แจ๊ค ลามอตต้า ใน Raging Bull, ทราวิส คนขับแท็กซี่ที่คิดแต่เรื่องความสะอาดบริสุทธิ์ของเมืองใน Taxi Driver, แซม บาวเด้น ใน Cape Fear หรือ แฟรงค์ เพียร์ซ บุรุษพยาบาลใน Bringing Out The Dead
อย่างไรก็ตามเนื่องจากโฮเวิร์ด ฮิวจ์ ได้ทำอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างจนยากจะครอบคลุม บทภาพยนตร์ของ จอห์น โลแกน จึงขับเน้นออกมาเพียงช่วงชีวิตหนึ่ง มีการดัดแปลงเรื่องราวให้เข้ากับจังหวะของหนัง และเมื่อสกอร์เซซีมากำกับ ความถนัดในการนำเสนอภาพที่เกินจริง ของคนที่แปลกแยกนั้นก็ยิ่งขับเน้นชัดเจนตัวของฮิวจ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ในหนังนั้นเรื่องของโฮเวิร์ด ฮิวจ์ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ)สามารถแยกออกมาได้สองส่วนหลักคือ เครื่องบิน และเต้านม อย่างแรกต้องการเน้นถึงการเป็นผู้อยู่สูงเหนือผู้อื่น และแสดงถึงความแตกต่างระหว่างเขากับบุคคลทั่วไป ส่วนอย่างหลังแสดงถึงความต้องการเป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดเวลา และแสดงถึงสภาพของผู้ต้องการความรักเอาใจใส่ดั่งสภาพทารกที่ไม่ยอมโตของตัวละครแต่กลับต้องการอยู่ภายใต้ทรวงอกอันยิ่งใหญ่แทน โดยอาจแบ่งได้ดังนี้
หนัง Hell's Angels และ The Outlaw
การผจญภัยของฮิวจ์เริ่มในวัยหนุ่ม หนังเริ่มเรื่องส่วนนี้ในช่วงที่เขากำลังสร้าง Hell's Angels หนังที่ลงทุนสูงสุดในขณะนั้น ผู้คนในฮอลลีวู้ดต่างพากันหัวเราะเยาะเย้ยว่าไม่มีทางสร้างได้สำเร็จ หนังใช้เครื่องบินหลายลำ กล้องหลายตัว จนเมื่อสร้างเสร็จก็ยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อสร้างใหม่ให้กลายเป็นหนังเสียงตามสมัยนิยม จากนั้นเขาก็สร้างหนังอีกหลายเรื่องในฐานะผู้อำนวยการสร้าง จนมากำกับอีกเรื่องคือ The Outlaw หนังมีจุดต่อในฉากหนึ่งที่ฮิวจ์พูดถึงเจตจำนงในการสร้างต่อจากหนังเรื่อง Scarface ซึ่งต้องให้เห็นถึงคนหัวขบถ และเรื่องต่อมาจะเน้นถึงความเป็นคนนอกกฎหมาย และยังเป็นหนังที่เผยส่วนหน้าอกของนักแสดงหญิงโจ่งแจ้งที่สุด ฉากที่เขาโต้แย้งกับคณะกรรมการเซ็นเซอร์ที่คิดจะหั่นฉากในหนังนั้นอาจแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาไม่ได้คิดว่าสิ่งที่เขาสร้างออกมาเป็นความผิดเลยแม้แต่น้อย
มีฉากหนึ่งในระหว่างสร้าง Hell's Angels เขาถึงขนาดบอกให้ทีมงานหาเมฆที่มีลักษณะคล้ายหน้าอกขนาดมหึมา และขณะสร้าง The Outlaw เขาก็เริ่มเป็นผู้ทำสถิติการบิน และประดิษฐ์เครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ออกมามากมาย
อาชีพ นักบิน
แม้ฮิวจ์จะประกอบธุรกิจมากมาย แต่สิ่งที่เขาอยากเป็นที่สุดย่อมไม่พ้นนักบิน เขาได้ทำลายสถิติการบินจนอาจจะเรียกได้ว่าเขากลายมาเป็นจ้าวแห่งการบิน พร้อมกับการประสบความสำเร็จทางการงานสารพัด แต่เมื่อมีขึ้นก็ย่อมมีลง ครั้งหนึ่งขณะทดสอบเครื่องบินรุ่นใหม่ ฮิวจ์ประสบอุบัติเหตุร่วงลงพื้น เปื้อนเลือดและฝุ่นดินสภาพสาหัส เมื่อมีผู้เข้ามาช่วยเหลือ สิ่งที่เขาพูดออกไปนั้นแทนที่จะกล่าว่าตนเป็นมหาเศรษฐี กลับบอกออกไปว่า ผมเป็นนักบิน
ในช่วงที่เขาซื้อสายการบินนั่นเอง ตัวเขาก็เตรียมสร้างเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าจะบินได้ อันแสดงถึงปรารถนาในความยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากทรวงอกขนาดมหึมา ฉากหนึ่งระหว่างในห้องตัดต่อหนัง เขาอธิบายเรื่องเครื่องยนต์ให้กับผู้ช่วย ด้วยแผ่นกระดาษที่อีกด้านเป็นบราเซียร์ของผู้หญิง ซึ่งเป็นไปได้ว่ามันเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างเครื่องบินลำนั้นเหมือนกัน
การนำเสนอ
The Aviator นำเสนอชีวิตที่หลีกหนีความจริงของตัวฮิวจ์ แต่แท้จริงเขาย่อมไม่อาจหลบจากความจริงได้ แม้เขาจะทะเยอทะยานแต่ก็ยังเป็นคนธรรมดานั่นเอง ภาพที่เขาถูกนักข่าวถ่ายภาพด้วยแสงสว่างจนตาพร่านั้นบ่งบอกชัดเจนถึงสิ่งที่เขาต้องอยู่กับโลกที่เกินจริงอย่างฮอลลีวู้ด ส่วนการที่หนังให้ภาพบางช่วงประหนึ่งหลุดมาจากหนังในยุคนั้นทั้งสครูว์บอล ฟิล์มนัวร์ หนังขาวดำ การปรับสีของภาพ ดนตรีแจ๊ส หรือการนำเสนอที่แบ่งภาพเป็น 2 ส่วน นอกจากเป็นการบูชาครูแล้ว ย่อมแสดงถึงผลของขั้วตรงข้ามที่หนักกว่าคือความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในชีวิต บั้นปลายที่ฮิวจ์ต้องเผชิญชะตากรรมอันหนักหนาสาหัส แม้การสร้างตนให้ สูงส่ง และ ยิ่งใหญ่ ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าตัวเขาเป็นคนย้ำคิดย้ำทำจากสมัยก่อน สภาพจิตใจที่มีปัญหาแต่เด็กเริ่มส่งผลกับชีวิตที่ไม่อาจรับปัญหาที่เข้ามาได้ ขวดนมที่กลายสภาพเป็นที่ใส่สิ่งปฏิกูลในช่วงอับจนนั้นเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนในตัวคนๆ หนึ่ง
อดีตและอนาคต
ท้ายที่สุดหลังจากการรอดพ้นจากคำตัดสินของกฎหมาย หลังผ่านสภาพความแปรปรวนถึงขีดสุด เขาก็เริ่มทดสอบการบินเครื่องบินโดยสารที่ใหญ่ที่สุด โดยทดสอบบินเหนือน้ำไม่กี่ฟุต นั่นคงถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่เขาได้รู้จักความหมายของความพอดีที่ไม่ต้องบินไปจนสูงสุด ท่ามกลางปัญหา ทรัพย์สิน และสิ่งต่างๆ อันมหาศาลที่เขาแบกเกินจะรับไหว และรู้สึกประสบความสำเร็จ
มนุษย์มักสร้างอัตลักษณ์ของตนให้เป็นอุดมคติ หรือสร้างตัวตนให้คนจดจำ ฮิวจ์เองก็สร้างให้เขาสูงส่ง และยิ่งใหญ่ในระดับเสมือนตนเป็นพระเจ้า แต่ความเป็นจริงมนุษย์มีดีมีชั่วในตนเอง และเป็นสิ่งมีชีวิตมีเลือดเนื้อ สภาพของโฮเวิร์ด ฮิวจ์นั้นนอกจากคนที่ทำในสิ่งที่เกินคนธรรมดาสามัญ ยังเปรียบเสมือนเด็กที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ผู้มีปมปัญหาจากวัยเด็กที่สูญเสียแม่แต่ยังเยาว์ ซึ่งอาจสรุปได้ว่าขณะที่เขาคิดถึงความยิ่งใหญ่ที่โลกจะจารึกเขาในอนาคต เขากลับมองจากอดีตตลอด จนไม่เคยเห็นปัจจุบัน ดั่งที่หนังให้ภาพเปรียบอดีตกับคำพูดย้ำคิดย้ำทำของตัวละครอย่าง The Way of The Future
ตัวละครอย่างฮิวจ์ ก็เหมือนกับใน King of Comedy ที่ตัวละครกว่าจะได้เป็นนักพูดตลกอย่างที่ใฝ่ฝันก็ต้องพบโลกโสมมของฉากหลัง, Taxi Driver ที่คนขับแท็กซี่กว่าจะมองเห็นภาพเมืองอันสะอาดกลับต้องแลกด้วยความรุนแรง, Raging Bull กับนักมวยที่มองตนเป็นพระเจ้าบนสังเวียนผ้าใบแต่กลับพ่ายแพ้ต่อชีวิตจริง พวกเขาเหล่านี้สร้างตนให้เป็นคนที่ผู้คนจดจำ แต่โดยสาระของหนังนั่นเองที่แม้ไม่ได้พูดเด่นชัด มันก็ตอกย้ำว่าการยอมรับความเป็นจริงต่างหากที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตคน