IMDB : tt0108052
คะแนน : 9
จากนักธุรกิจที่เพียงแสวงผลกำไรจากแรงงานยิวราคาถูก ออสการ์ ชินด์เลอร์ (เลียม นีสัน) กลับสัมผัสถึงพลังอันยิ่งใหญ่แห่งความเมตตาหลังได้รู้จักกับ อิตแซค สเติร์น (เบน คิงส์ลีย์) สมุห์บัญชีชาวยิวผู้ลักลอบจ้างแรงงานร่วมชาติเพื่อให้รอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุโดย อามอน เกิร์ธ (ราล์ฟ ไฟน์ส) ทหารนาซีสุดโฉดผู้พิสมัยการสังหารชาวยิวเป็นอย่างยิ่ง
หากกล่าวถึง Schindler’s List ความทรงจำของผมหากย้อนไปปี 1993 ที่หนังฉายคงเลือนลางเหลือแค่โปสเตอร์ขาวดำรูปมือคนจับกันที่ติดไว้ในตู้โชว์หน้าโรงหนัง กว่าจะได้พิสูจน์ความยอดเยี่ยมของหนังครั้งแรกจริงๆก็ปาเข้าไปตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่ได้ยืมแผ่น VCD จากห้องสมุดมาดู ซึ่งหลังหนังดำเนินไปครบ 3 ชั่วโมงกว่าๆ สิ่งที่หนังมอบให้ไม่เพียงความหดหู่ที่มนุษย์กระทำต่อกันเท่านั้น แต่หนังยังมาพร้อมฉากหลายฉากที่ลืมไม่ลง ทั้งฉากห้องรมแก๊ส ที่การถ่ายภาพแบบขาว-ดำยิ่งให้ความรู้สึกหลอกหลอนสมจริง หรือ แม้กระทั่งฉากมหัศจรรย์อย่างเด็กสาวในเสื้อโค๊ตสีแดง ซึ่งเป็นสีเดียวในเรื่องที่เด่นออกมาจากโทนภาพขาวดำ ก็ให้ความรู้สึกที่สะเทือนใจจนลืมไม่ลง
และหลังจากนั้นก็มีโอกาสชมเป็นครั้งคราวทั้งการต้องกลับมาดูเพื่อการศึกษาด้านภาพยนตร์ หรือ การต้องนำหนังมาสอนในห้องเรียนนับครั้งไม่ถ้วน ก็ยิ่งเกิดความรู้สึกอันแรงกล้าว่าสักวันหากหนังกลับมาฉายโรง เราต้องไปดูให้ได้ และวันนี้ฝันของผมก็เป็นจริงแล้วกับการนำ Schindler’s List กลับมาฉายฉลอง 25 ปีในวันนี้
นอกจากงานกำกับของสปีลเบิร์กที่เอาคนดูอยู่หมัดตลอด 3 ชั่วโมงกว่าแล้ว จุดเด่นลำดับต้นๆคงไม่พ้นงานภาพโดย ยานุตซ์ คามินสกี ก่อนเลย จากที่เคยอ่านในตำราภาพยนตร์ที่ยกย่องวิสัยทัศน์ของผู้กำกับภาพคู่บุญของสปีลเบิร์ก วันนี้คือประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองชัดๆก็บนจอในโรงเนี่ยแหละ ที่งานภาพแกคราฟต์ทุกเม็ด นอกจากฉากเด็กหญิงโค๊ตสีแดงที่เป็นสัญญะถึงความบริสุทธิ์ของเรื่องแล้ว เรายังพบรายละเอียดแต่ละซีนได้ชัดขึ้นบนจอใหญ่ทั้งการจัดแสงที่สามารถสื่อความหมายในภาพได้อย่างล้ำลึก จนต้องขอบคุณที่สปีลเบิร์ก แกไฝ่ว์จนได้ถ่ายหนังเป็นขาวดำเพราะมันเหมาะสมกับการบอกเล่าประวัติศาสตร์อันโหดร้ายได้อย่างสมจริงและตราตรึง
และไม่เพียงงานถ่ายภาพเท่านั้น การตัดต่อของหนังยังสามารถเป็นตำราชั้นดีสำหรับเด็กภาพยนตร์ เพราะมีทั้ง แมตช์คัต (การตัดแบบไร้รอยต่อด้วยการจับคู่ภาพที่มีรูปทรงเดียวกันมาต่อกัน) และการมองทาจ (การเล่นตัดสลับเหตุการณ์2-3เหตุการณ์เพื่อให้เกิดความหมาย) หรือกระทั่งการลำดับเหตุการณ์ต่างๆก็ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยศิลปะที่ยากจะหาหนังสมัยนี้เทียบเคียงได้ก็มิปาน ยิ่งได้ดนตรีประกอบโดยจอห์น วิลเลี่ยม ก็แทบจะทำให้หนังใกล้เคียงกับคำว่าไร้ที่ติอย่างสมบูรณ์แบบ
จากหนังที่ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ทุ่มหัวใจสร้างและไม่ขอรับค่าตัว (เพราะไม่อยากถูกตราหน้าว่ารับเงินเปื้อนเลือดจากการทำหนังสังหารหมู่ชาวยิว เพื่อนร่วมชาติ)สู่หนังเกริกเกียรติ 7 รางวัลออสการ์ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ถ่ายภาพยอดเยี่ยม, กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม และดนตรีประกอบยอดเยี่ยม ณ.บัดนี้ก็ได้เวลาที่หนังซึ่งมีอายุร่วม 25 ปีจะได้กลับมาฉายโรงอีกครั้งหลังได้รับการพิสูจน์ด้วยกาลเวลามาแล้ว เพราะฉะนั้นไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง