ค้นหาหนัง

Little Buddha | พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลกลืมไม่ได้

หมวดหมู่ : หนังดราม่า
Little Buddha | พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลกลืมไม่ได้
เรื่องย่อ : Little Buddha | พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลกลืมไม่ได้

เรื่องราวที่บอกเล่าย้อนไปถึงประวัติและคำสอนของพระพุทธเจ้า โดย Keanu Reeves แสดงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้สูงศักดิ์ที่ทรงเห็นวัฏจักรของการเกิดแก่เจ็บตาย จนทำให้พระองค์ทรงตัดสินใจเดินทางค้นหาความจริงจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มหาศาสดาแห่งศาสนาพุทธ

IMDB : tt0107426

คะแนน : 7



ลามะนอร์บู (โรเชง ยิง) เดินทางไปยังซีแอตเติลทันทีหลังได้รับข่าวน่ามหัศจรรย์ว่าดวงวิญญาณลามะดอร์เจพระอาจารย์ของตนได้มาจุติบนโลกในร่างของ เจสซี่ (อเล็กซ์ ไวเซนเดนเจอร์) หนุ่มน้อยช่างสงสัยท่ามกลางความกังขาของ ดีน (คริส ไอแซค) และ ลิซ่า (บริตเจด ฟอนดา) พ่อแม่ของเจสซี่ที่ยังแคลงใจในความเชื่อที่ขัดกับโลกตะวันตก แต่หลังจากลามะนอร์บูได้เปิดโลกของเจสซี่ด้วยพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าที่ทั้งน่าอัศจรรย์และชวนเลื่อมใส การเดินทางจากซีแอตเติลของเจสซี่เพื่อไปพิสูจน์ว่าตนคือดวงวิญญาณลามะดอร์เจหรือไม่กำลังจะเปลี่ยนโลกของเขาและครอบครัวไปตลอดกาล

ตอน Little Buddha ออกฉายปี 1993 หรือเมื่อ 26 ปีที่แล้วชะตากรรมของหนังช่างไม่ต่างจากการบำเพ็ญทุกกรกิริยาของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะผลตอบรับที่เกิดกับ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ผู้กำกับอิตาเลียนที่มีภูมิต้านทานทั้งก้อนอิฐจาก Last Tango In Paris ที่อื้อฉาวด้วยฉากเปลือยของนักแสดงสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไปจนถึงกระแสชื่นชมแซ่ซ้องจากหนัง 9 ออสการ์อย่าง The Last Emperor (1987) ที่ไม่วายถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่ทั้งที่เป็นหนังเรื่องเดียวที่ได้ถ่ายในพระราชวังต้องห้ามของจริง แต่สำหรับ Little Buddha หนังปิดไตรภาคโลกตะวันออกตามหลัง The Sheltering Sky (1990) (หนังเรื่องดังกล่าวพาเราไปเยือนทะเลทรายในโลกอาหรับ) กลับท้าทายกว่าด้วยการพูดถึงการเดินทางทางจิตวิญญาณแบบโลกตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเรื่องราวของพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าที่มีเหตุการณ์อันน่าเหลือเชื่อแต่เปี่ยมศรัทธาของชาวพุทธมาตีความให้เห็นเป็นภาพยนตร์ เดิมพันคราวนี้จึงเท่ากับ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี หยิบเรื่องราวที่ชาวพุทธรู้ดีอยู่แล้วที่สำคัญมันยังเป็นความเชื่อที่เต็มไปด้วยแฟนตาซีมาถ่ายทอดให้ดูอีพิกเพื่อหวังให้ผู้ชมทั่วโลกได้สัมผัสกับเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของการตามหาจิตวิญญาณทั้งของ สิทธัตถะ และ กรณีดวงวิญญาณลามะดอเจที่คนในโลกตะวันตกยากจะเข้าใจ จนผลสุดท้ายนอกจากจะล้มเหลวบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศแล้วยังถูกนักวิจารณ์รุมสับเละทั้งจังหวะหนังที่แช่มช้าและเรื่องราวที่เหนือความเข้าใจของคนในโลกตะวันตก (ยกเว้นที่ฝรั่งเศสที่ผู้ชมเปิดใจมากกว่าจนทำรายได้ติดอันดับหนังทำเงินตลอดกาล)

โดยประสบการณ์ส่วนตัวแล้วตอนหนังเข้าฉาย ผมคุ้นเคยเพียงแค่ชื่อไทยว่า พระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกลืมไม่ได้ และชื่อของคีอานู รีฟ (ที่ต่อมาเขาดังจากหนังเรื่อง Speed (1994)) จากการจัดจำหน่ายของบริษัทหนังอย่าง นนทนันท์ (ในช่วงท้ายก่อนบริษัทยุบลิขสิทธิ์หนังหลายเรื่องถูก M Picture ซื้อไป) และมาได้ชมครั้งแรกจริงๆคือในชั่วโมงพระพุทธศาสนาที่ครูเอาวีดีโอมาเปิดให้ดูแต่ก็เน้นให้ชมเฉพาะช่วงพุทธประวัติอย่างเดียวเท่านั้น จนกระทั่งมาได้ดูเต็มๆครั้งแรกจริงๆคือในบิ๊กซีนีม่าทางช่อง 7 เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแน่นอนว่าเราคงได้รับเพียงสารสำคัญอย่างโครงเรื่อง งานภาพที่ถูกครอปเพื่อให้เหมาะแก่การออกอากาศทางโทรทัศน์ ดังนั้นด้วยโอกาสสำคัญที่ทาง Documentary Club นำ Little Buddha มาฉายอีกครั้งตามหลังหนังของ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี ที่ทยอยกลับมาฉายใหม่ไปก่อนหน้านี้ทั้ง The Last Emporer และ The Dreamers จึงเป็นเหมือนการได้กลับมาสำรวจคุณค่าของหนังแบบเต็มตาอีกครั้งและผลลัพธ์ก็เป็นยิ่งกว่าการกลับมาดูหนังเรื่องเดิมในวัยที่มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นประสบการณ์สำคัญในชีวิตการชมภาพยนตร์เลยทีเดียว

ประการแรกที่อยากพูดถึงคือบทภาพยนตร์ของ แบร์โตลุชชี่ ที่เขียนร่วมกับ รูดี เวอร์ลิตเซอร์ และ มาร์ค พีโพล เต็มไปด้วยรายละเอียดและการเชื่อมโยงระหว่างโครงเรื่องหลักและพุทธประวัติอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวไม่เพียงผิวเผินอย่างการตีคู่ขนานชีวิต เจสซี่ กับ สิทธัตถะ เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงคำสอนในศาสนาพุทธที่ถ่ายทอดมาได้อย่างเข้าใจซึ่งจะสังเกตรายละเอียดแบบนี้ได้คือต้องบนจอใหญ่ๆเท่านั้น เช่นตึกเจ้าปัญหาที่ ดีน สร้างดันไปตรงกับสถูปที่ภูฏานเพื่อสื่อถึงเรื่องความไม่จีรัง, การอธิบายเรื่องการเคลื่อนย้ายวิญญาณไปยังร่างใหม่โดยการเปรียบเทียบกับชาและภาชนะที่แตกรั่ว หรือการยึดติดทั้งหลักตรรกะของชาวตะวันตกที่หนังให้ ลิซ่า แม่ของเจสซี่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ ในขณะที่ ดีน เองก็เป็นสถาปนิก ทั้งสองศาสตร์เหมือนจะอยู่ตรงข้ามกับเรื่องจิตวิญญาณ แต่พุทธศาสนากลับตอบคำถามหลายอย่างที่ตัวเลขและการคิดคำนวณไม่อาจให้ทางออกได้ และการตัดสินใจของเจสซี่ที่แทบเป็นตัวแทนดวงวิญญาณบริสุทธิ์พาคนดูเดินทางไปพบเรื่องราวของสิทธัตถะกับการเรียนรู้และเดินทางสู่การเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยนำอริยสัจ 4 มาใช้ไม่เพียงแต่การนำมากำหนดชะตากรรมตัวละครเท่านั้นแต่ยังลามไปถึงงานเทคนิคของหนังที่ต้องบอกว่านี่คือประสบการณ์ด้านภาพยนตร์แบบครั้งหนึ่งในชีวิตต้องมาสัมผัสจริงๆ

อีกจุดที่นับว่าเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่หนังทิ้งให้คนดูเป็นปริศนาธรรมคงหนีไม่พ้นงานภาพของ วิตโทริโอ สโตราโร ที่นำแม้กระทั่งหลักการอริยสัจ 4 มาใช้ในการกำหนดโทนเรื่องตั้งแต่การออกแบบให้ฉากในพุทธประวัติเป็นสีส้มแดง , น้ำเงินเทาสำหรับเหตุการณ์ที่ซีแอตเติลอันเต็มไปด้วยการดิ้นรนของชีวิตครอบครัวของเจสซี่ ซึ่งต่อมาตอนเจสซี่กับดีนเดินทางไปภูฏานหนังก็ให้สีเป็นส้มแดง ซึ่งการนำสี 4 สีหลักมาใช้กำหนดโทนเรื่องไม่เพียงทำให้เราแบ่งภาคการเล่าเรื่องอย่างชัดเจนเท่านั้นตรงกันข้ามมันกลับสื่อสารชะตากรรมของตัวละครที่สามารถอธิบายด้วยหลักการของพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง และไม่เพียงแค่การกำหนด โทนสี หรือ Color Scheme เท่านั้น วิตโทริโอ สโตราโร ยังเหมือนบังคับให้คนดูดูหนังในโรงกลายๆด้วยการถ่ายทอดฉากพุทธประวัติในระบบ ทอดด์เอโอ 65 มม. (ซึ่งนั่นเลยส่งผลให้ตอนหนังออกเป็นวีดีโอแรกๆซีนพุทธประวัติเลยเหมือนภาพมันถูกยืด หน้าคีอานู รีฟ ถูกยืดจนเหมือนเอเลี่ยนหัวขวดในเรื่อง Coneheads (1993) หนังเอเลี่ยนตลกที่ฉายปีเดียวกันซะงั้น) ซึ่งพอได้มาชมในโรงแบบเต็มๆงานภาพของ สโตราโร คือสามารถถ่ายทอดความยิ่งใหญ่ของการเดินทางทางจิตวิญญาณสิทธัตถะได้แบบเอพิกมากๆ นอกจากซีนงูแผ่แม่เบี้ยกันฝนให้เขาวิปัสสนาอันเป็นภาพจำของชาวพุทธและคอหนังแล้ว ฉากที่ถือว่าเป็นไฮไลต์สำคัญอย่างการต่อสู้กับจอมมารนี่ต้องบอกว่าทั้งยิ่งใหญ่และดุเดือดกว่าการชมในจอเล็กๆมากมายนัก และที่สำคัญมันยังทำงานร่วมกับองค์ประกอบอีกส่วนที่เข้าขั้นมาสเตอร์พีซไม่แพ้กันอย่างดนตรีประกอบภาพยนตร์ได้อย่างลงตัวทีเดียว

การกลับมาร่วมงานกับ แบร์นาโด แบร์โตลุชชี อีกครั้งของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ ในคราวนี้น่าจะเปิดโลกของการทำเพลงประกอบภาพยนตร์ไปอีกขั้น การันตีด้วยการเข้าชิงรางวัลแกรมมี่สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม-แต่ถึงจะไม่ได้รางวัลกลับไป งานของซากาโมโตะ ก็ไม่ได้ถูกลดทอนคุณค่าลงแต่อย่างใดทั้งการประพันธ์เพลงอย่างเข้าใจในเสียงของเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่สามารถรังสรรค์ให้เราสัมผัสโลกในพุทธประวัติได้สมบูรณ์แบบในทุกช่วงตอนอย่างสอดประสานกับงานภาพของ สโตราโร แล้ว สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือดนตรีของซากาโมโตะ สามารถแสดงถึงห้วงอารมณ์ ชะตากรรม ของตัวละครที่เหมือนอยู่นอกบททว่ากลับสร้างมิติให้เรื่องราว และสามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ของแบร์โตลุชชี ได้สมบูรณ์แบบเป็นอย่างยิ่ง