ค้นหาหนัง

Jurassic Park | จูราสสิค ปาร์ค : กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์

Jurassic Park | จูราสสิค ปาร์ค : กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์
เรื่องย่อ : Jurassic Park | จูราสสิค ปาร์ค : กำเนิดใหม่ไดโนเสาร์

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย นักบรรพชีวินวิทยา Dr. Alan Grant (Sam Neill) กับแฟนสาว Dr. Ellie (Laura Dern) และนักคณิตศาสตร์ Dr. Ian Malcolm (Jeff Goldblum) ได้รับคำเชิญจากมหาเศรษฐี John Hammond (Richard Attenborough) เพื่อให้มาเยี่ยมชม จูราสสิค พาร์ค เป็นกลุ่มแรก Hammond ต้องการความคิดเห็นของนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้เพื่อรับรองความปลอดภัยของสถานที่ของเขา ระหว่างนั้น ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ หลุดจากการควบคุมและออกอาละวาดขณะที่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์กำลังเยี่ยมชมกันอยู่ Dennis Nedry (Wayne Knight) ผู้เชี่ยวชาญและควบคุมด้านคอมพิวเตอร์ของจูราสสิค พาร์ค ได้ยกเลิกระบบรักษาความปลอดภัยทั้งหมดเพื่อเเอบเอาตัวอ่อน (Embryo) ของไดโนเสาร์ไปขาย ไดโนเสาร์ทั้งหมดอาละวาดเพราะกรงไฟฟ้าที่ใช้ขังและควบคุมพวกมันทำงานไม่ได้ Alan กับ Tim หลานชายและ Lex หลานสาวของ Hammond ติดอยู่ในป่า คนทั้งหมดต้องเอาชีวิตรอดจากเหล่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ทั้งจูราสสิค พาร์ค

IMDB : tt0107290

คะแนน : 10



ผมดูหนังเรื่องนี้อีกรอบเมื่อเช้าเองครับ ดูจบแล้วก็ไม่มีข้อกังขาใดๆ ขอยกตำแหน่งยอดหนังไดโนเสาร์ตลอดกาลในดวงใจให้ Jurassic Park ไปเลย

หนังอะไรของมัน สนุกแบบไม่เกรงใจกาลเวลา เก่าจะ 20 ปีแล้วแท้ๆ แต่ยังสด ครบรส… แบบนี้ล่ะกระมังครับที่เขาเรียกว่าคลาสสิก

เนื้อเรื่องของหนังก็ง่ายๆ ครับ เรื่องเริ่มเมื่อจอห์น แฮมมอนด์ (Richard Attenborough) มหาเศรษฐีเจ้าของบริษัท Ingen ที่ชอบคิดใหญ่ทำใหญ่ ก็ได้ดำเนินโครงการล่าสุดที่เรียกได้ว่าใหญ่ก้องโลก นั่นคือการสร้างสวนสัตว์เปิดที่ไม่มีที่ใดในโลกจะเสมอเหมือน เพราะแทนที่ในนั้นจะมีสิงสาราสัตว์แบบสวนสัตว์ทั่วๆ ไป มันดันเป็นสวนที่มีแต่ไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกกว่า 65 ล้านปีที่แล้วเพ่นพ่านอยู่แทน!

แต่การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงครับ ทางคณะกรรมการบริษัทและผู้ร่วมทุนก็ต้องการความแน่นอนโดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในพาร์คนี้ จึงยื่นข้อเสนอให้แฮมมอนด์ไปขอคำรับรองจากผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงมาเสียก่อน ซึ่งก็ได้แก่ ดร.อลัน แกรนท์ (Sam Neill), ดร.เอลลี่ แซทเลอร์ (Laura Dern) และ ดร.เอียน มัลคอล์ม (Jeff Goldblum) ถ้าสามคนนี้ตกลงเซ็นต์รับรองพาร์คเมื่อไร ทุกฝ่ายถึงจะยอมให้แฮมมอนด์ได้เปิดพาร์คตามความตั้งใจ

แฮมมอนด์เลยเชิญทั้ง 3 ให้มาทัวร์ในพาร์ค ร่วมกับ โดนัลด์ เจนาโร (Martin Ferrero) ทนายจอมเห็นแก่เงิน และหลานๆ เขาสองคน เล็กซ์ (Ariana Richards) และ ทิม (Joseph Mazzello) ซึ่งตอนแรกก็น่าสนุกดีล่ะครับ แต่เผอิญเกิดเหตุร้ายมาประดัง ไม่ว่าจะพายุที่ตั้งเค้าเข้าซัดเกาะที่พาร์คตั้งอยู่ และยังมีลูกจ้างคนหนึ่งของพาร์คที่คิดไม่ซื่อหมายจะขโมยตัวอ่อนไดโนเสาร์ไปขายให้บริษัทอื่นเสียอีก

แล้ววันทัวร์ที่น่าตื่นตาก็กลายเป็นการผจญภัยเอาชีวิตรอดที่แสนตื่นเต้น เมื่อไดโนเสาร์ทั้งหลายในจูราสสิค พาร์คเริ่มออกมาไล่ล่ามนุษย์!

จากการดูรอบล่าสุดของผม (หลังจากไม่ได้ดูมานาน) รู้สึกทึ่งในหลายๆ อย่างครับ อย่างแรกเลยคือ ทึ่งในความง่ายของเรื่องราว คือมันไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลยครับ เล่าแบบ 1 2 3 4 ทีละ Step เปิดมาก็แนะนำตัวละคร ไล่มาทีละรายเลยครับ ซึ่งแต่ละฉากนั้นก็สื่อถึงบุคลิก แนวคิดของแต่ละคนแบบชัดๆ โดยเฉพาะ เดนนิส เนดรี่ (Wayne Knight) เจ้าตัวร้ายที่หมายจะขโมยตัวอ่อนนั่นแหละ พี่แกโผล่แค่ไม่กี่นาทีครับ แต่เห็นปุ๊บรู้เลยว่าหมอนี่เห็นแก่เงินและชั่วร้ายได้ขนาดไหน

ราวๆ 20 นาทีแรกหนังแนะนำตัวละครจนครบครับ ถัดจากนั้นก็กระหน่ำเข้าเนื้อเรื่อง โดยการโชว์ Effect ให้เราเห็นภาพไดโนเสาร์แบบเต็มตัว ซึ่งสมัยนั้นทำเอาคอหนังอ้าปากค้างกันมาแล้ว ส่วนสมัยนี้แม้จะชินตาแล้วก็เถอะ แต่ก็ยังชวนให้คนดูจับตาอยู่ดีครับ และหนังสอดแทรกมุมมองวิพากษ์สิ่งที่แฮมมอนด์ทำได้อย่างน่าคิดซะด้วย ไว้เราพูดถึงเรื่องพวกนี้กันทีหลังแล้วกันนะครับ (ของแบบนี้ต้องพูดกันยาวนิดๆ ตามสูตร )

จากนั้นพอเข้าครึ่งหลัง หนังก็กลายเป็นผจญภัยเต็มตัว ตื่นเต้นได้เรื่อยๆ มีพักบ้าง สยองบ้าง ผสมกันไปอย่างพอเหมาะ จนผมยกนิ้วให้ Steven Spielberg เลยครับ ที่คุมหนังได้เปี่ยมรสชาติขนาดนี้ มีผ่อนมีเร่ง ทำให้ 2 ชั่วโมงเต็มไปด้วยความน่าติดตาม แต่ละฉากก็จะมีอะไรมาดึงดูดสายตาคนดูเสมอล่ะครับ ไม่การแสดงเยี่ยมๆ ก็ต้องมี Effect ถ้าไม่มี Effect ก็จะมีบทสนทนาชวนคิด หรือถ้าไม่มีอะไรเลย อย่างน้อยก็ยังมีอารมณ์ขันกับภาพสวยๆ ของป่าเขา ที่ Dean Cundey ตากล้องมือดีจับมาถ่ายทอดให้เราๆ ท่านๆ ได้ตื่นตากัน

นี่แหละครับ สไตล์ของคนทำหนังรุ่นเก๋า รู้จักใช้สารพัดองค์ประกอบของหนังมาผสมกัน จนหนังออกมาลงตัวพอดีๆ แม้ถ้าว่ากันโดยรวมหนังอาจไม่ถึงกับไร้ที่ติและไม่หวือหวาสุดขีดเท่าหนังสมัยใหม่ แต่ก็จัดได้ว่าเยี่ยม ไม่ผิดหวัง เอามาดูซ้ำก็ยังสนุกได้ที่

อีกคนที่ต้องยกนิ้วให้ก็คือ Michael Crichton ผู้ล่วงลับด้วยครับ ที่คิดเรื่องราวเยี่ยมแบบนี้ออกมาให้เราได้ชื่นชมกัน ซึ่งหนังก็สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันนี้ แล้วต่อมาพอ Universal มาซื้อไปทำ Crichton ก็ยังตามไป เกลาบทอีก เพราะแบบนี้เองครับ ตัวหนังถึงทำได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้ฉบับนิยาย ประเด็นหลักๆ ที่นิยายนำเสนอไว้ก็ถูกใส่ลงมาในหนังจนครบพอดี

ทึ่งต่อมาก็เรื่อง Effect ครับ ที่ไม่เก่าเลย ส่วนหนึ่งคงเพราะหนังใช้เทคนิคพิเศษแบบพอดีๆ เท่าที่จำเป็น ไม่พร่ำเพรื่อ เลยไม่จืดตา

ตามด้วยแนวคิดเยี่ยมๆ ที่หนังแทรกมาผ่านทางคำพูดของ 3 ตัวเอก ที่ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการเปิดพาร์คของแฮมมอนด์ ซึ่งไว้ผมจะเอามาพูดอีกทีในช่วงหลังๆ น่ะนะครับ

เรื่องต่อมาที่ชื่นชอบก็คือลีลาเล่าเรื่องสไตล์ Spielberg ที่เก๋าจนน่าปรบมือครับ แม้จะเรื่อยๆ แต่ตรงประเด็น ครั้นเวลาจะสร้างความตื่นเต้นก็ไม่ต้องโฉ่งฉ่างอะไรมาก ความสยองก็พอดีไม่ต้องเยอะจนเลอะ

แค่น้ำในแก้วสั่นเป็นช่วงๆ คนดูก็ขนลุกเกรียวได้แล้วล่ะ

หรือการเล่าเรื่องแบบอุ่นเครื่องเกี่ยวกับความร้ายกาจของเวโลซีแรพเตอร์ ไดโนเสาร์นักล่าที่แสนโหดเหี้ยม ซึ่งถ้าจะเรียกมันว่าเป็นวายร้ายตัวจริงของเรื่องก็คงไม่ผิดอะไรครับ หนังได้บอกเล่าเรื่องของมันตั้งแต่ต้นผ่านปากของดร.แกรนท์ และอีกหลายฉาก จนพอมันโผล่มาจริงๆ เราก็เกร็งได้ไม่ยาก

ลีลาแบบนี้เป็นลีลาที่คนทำหนังและคนทำนิยายสยองรุ่นเดอะชอบใช้กันครับ เล่าๆ บิ้วอารมณ์ถึงความน่ากลัวของสิ่งๆ หนึ่งเพื่อเตรียมการรับรู้ให้คนดู แค่นี้ก็ทำให้มันเป็นตัวร้ายที่น่าสยองโดยไม่ต้องเจอหน้ามันด้วยซ้ำไป

ถือเป็นการเล่นกับอารมณ์และจินตนาการของคนดูได้อย่างดีครับ เพราะถ้าจะว่าไป ระหว่างเห็นด้วยภาพจะๆ ตา กับการปล่อยให้คนดูจินตนาการเตลิดวาดภาพสยองไปเอง อย่างหลังนี่แหละที่ได้ผลกว่า

และลีลานี้เองที่ทำให้แรพเตอร์กลายเป็นไดโนเสาร์ตัวร้ายที่คนดูลืมไม่ลง… ฉากกลอนประตูได้ไหมล่ะครับ… น่ากลัวเป็นบ้า

ที่ไม่ชมไม่ได้อีกหนึ่งอย่างก็คือดนตรีประกอบดีๆ ของ John Williams คอมโพเซอร์คู่บุญของ Spielberg กับธีมอลังการที่พอได้ยินก็รู้ทันทีว่ามาจาก Jurassic Park แน่นอน

แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษก็หนีไม่พ้นประเด็นที่หนังแทรกเข้ามานี่แหละครับ มันชวนให้คิดแบบกำลังดีทีเดียว และทำให้หนังเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หนังสยองที่มีตัวประหลาดมาแฮ่เป็นพักๆ เท่านั้น

จากมุมมองของ 3 ตัวเอก ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า การสร้างไดโนเสาร์และการเปิดจูราสสิค พาร์คนั้นน่าจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

เริ่มจากดร.มัลคอล์มที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุด แม้เขาจะทึ่งกับผลลัพธ์ที่แฮมมอนด์และทีมนักวิทยาศาสตร์ทำได้ แต่เขาก็มองข้ามช็อตไปไกลกว่านั้น มองไปถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และโอกาสที่จะเกิดนั้นมีแนวโน้มไปในทางร้ายมากกว่าดี เพราะไดโนเสาร์พวกนี้สูญพันธุ์ไปกว่า 65 ล้านปีตามการคัดเลือกของธรรมชาติ แต่เรากลับฝืนโดยการนำมันกลับมาอีก

แต่แฮมมอนด์ก็โต้ว่ามัลคอล์มมองมุมร้ายเกินไป และพยายามชี้ให้มัลคอล์มมองที่ปัจจุบันว่า บัดนี้เขาได้ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้แล้ว นี่ต่างหากคือเรื่องสำคัญและควรได้รับคำชื่นชม นี่แหละคือสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็น “ความสำเร็จ”

มัลคอล์มเลยสรุปกลับไปตรงๆ ว่า “ก็คุณน่ะมัวแต่สนใจว่าทำได้หรือไม่ แต่ดันไม่มองว่าควรทำหรือไม่น่ะสิ!”

ประโยคนี้ของมัลคอล์มนับว่ากระแทกใจคนที่ฟังแล้วคิดตาม เพราะจะว่าไปแล้ว โลกเราทุกวันนี้ แม้จะก้าวหน้าและสะดวกสบายด้วยวิทยาการจากวิทยาศาสตร์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอีกหลายปัญหา อีกหลายเรื่องอันตรายที่เกิดเพราะเราได้สร้างสิ่งที่ไม่ควรสร้างขึ้นมา หรือสร้างสิ่งที่เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

ตอนได้ยินประโยคนี้ ผมนึกถึงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์กับระเบิดนิวเคลียร์ขึ้นมาท้นที

ส่วนดร.แซทเลอร์ก็เห็นในทางเดียวกัน เธอมองว่าการที่ธรรมชาติตัดสินใจแยกสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์พวกนี้ออกมามนุษย์ย่อมมีเหตุผล และยังบอกกับแฮมมอนด์ด้วยว่า พืชที่เขาเอามาประดับในศูนย์ท่องเที่ยวเพื่อความสวยงามน่ะ มีหลายต้นที่มีพิษ ยิ่งยืนยันว่าแฮมมอนด์กับพวกกำลังระเริงอยู่กับความสำเร็จจนลืมนึกถึงผลกระทบที่ตามมาจริงๆ

ดร.แกรนท์ก็ตบท้ายว่า การเอาระบบนิเวศน์เก่าแก่ที่เราไม่เข้าใจให้กลับมามีชีวิตในปัจจุบัน มันเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยากมาก ซึ่งในความหมายของเขาก็คือ มันอาจก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะเรารู้เรื่องเกี่ยวกับพวกมันน้อยมาก และพวกมันถือได้ว่าเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ที่เคยครองโลกมาก่อน… เราแน่ใจได้อย่างไรว่าจะคุมมันได้ดั่งใจ…

เราประมาทความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเกินไปหรือเปล่า

มัลคอล์มก็สรุปประเด็นพวกนี้ได้ชัดๆ ว่า “เหมือนเด็กเล่นปืนพ่อน่ะแหละ”

สำหรับคอหนังที่คุ้นเคยกับงานของ Crichton น่าจะจำได้ว่าเขาเคยเอาประเด็นนี้มาเล่าแล้วในหนัง Westworld ที่เขาเขียนบทและกำกับเอง เนื้อหาว่าด้วยดินแดนที่มนุษย์สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับนักท่องเที่ยว แต่เมื่อเกิดความผิดพลาด ความสยองก็บังเกิดแบบไม่อาจควบคุมได้…

แนวคิดเตือนให้มนุษย์ไม่ประมาทต่อผลลัพธ์ของวิทยาศาสตร์นี่ Crichton หมั่นนำเสนอให้เราตระหนักอยู่เรื่อยๆ

… มาคิดอีกที มุขน้ำในแก้วสั่นเพราะแรงสะเทือนนั้นอาจมาจากไอเดียของ Crichton ก็ได้ (ใครดู Westworld มาแล้วน่าจะเข้าใจ… ไว้ผมจะเอามารีวิวให้ฟังครับ)

และในที่สุด อันตรายมหาศาลก็เกิดกับพาร์คจริงๆ… ตรงนี้ก็มีอะไรให้น่าสังเกตอีกเหมือนกัน

คืนที่ทุกคนต้องหนีตายในพาร์คนั้น จริงๆ แล้วถ้าทุกอย่างในพาร์คดำเนินไปตามปกติไม่มีความผิดพลาดใดๆ เรื่องก็คงไม่เกิดขึ้น แต่แล้วเรื่องเลวร้ายก็มาเกิดเพราะสิ่งๆ เดียว… มนุษย์นั่นเอง

เดนนิส เนดรี่ไงครับ พี่ท่านโลภอยากขโมยตัวอ่อน เลยลงมือก่อกวนระบบจนเหล่าไดโนเสาร์ออกจากปราการมาไล่ฆ่าคนได้ตามอำเภอใจ

พาร์คนี้สำเร็จได้เพราะความตั้งใจดีของมนุษย์ และมันก็ล้มเหลวด้วยความตั้งใจไม่ดีของมนุษย์…

ถึงตรงนี้ผมยิ่งเห็นด้วยกับแนวคิดของ 3 ตัวเอกครับ ที่ชี้ชวนให้แฮมมอนด์ระมัดระวัง เพราะเขากำลังเล่นกับเรื่องที่เขาไม่เข้าใจ…

ในที่นี้ “เรื่องที่แฮมมอนด์” ไม่เข้าใจและประมาท ไม่ได้มีแค่เรื่องธรรมชาติของไดโนเสาร์เท่านั้น แต่เขายังประมาทต่อธรรมชาติของมนุษย์ด้วย

ธรรมชาติของมนุษย์นั้น มีทั้งด้านดีและด้านร้าย แล้วแต่คน แล้วแต่สภาวะ แล้วแต่การเลี้ยงดู… โลกนี้มีทั้งคนดีและคนไม่ดีปนเปกัน

วิทยาการที่แฮมมอนด์ทำ จริงๆ ก็ถือว่าเยี่ยมและน่าทึ่ง และมันน่าจะมีความเสี่ยงน้อย หากมันอยู่ในมือของคนที่คิดถูก ทำถูก คนที่ระมัดระวังอยู่เสมอ… เสียดายที่เขาประมาทในความโลภของคน

ธรรมชาติของไดโนเสาร์หรือธรรมชาติของสภาวะอากาศว่าร้ายแล้ว… แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นร้ายแรงไม่แพ้กันจริงๆ

Jurassic Park มีอะไรมากกว่าไดโนเสาร์ไล่แฮ่จริงๆ ว่าไหมครับ

ทีนี้เรามาดูที่มาที่ไปของหนังกันหน่อย Jurassic Park นั้นสร้างจากนิยายขายดีสุดๆ ของ Crichton ที่จับเอาเรื่องราวแนวผจญภัย ระทึกขวัญ และวิทยาศาสตร์มาผสมเข้าด้วยกัน โดยแก่นเรื่องจะมีความคล้ายคลึงกับนิยาย Frankenstein ของ Mary Shelley ที่ว่าด้วยผลร้ายของการทดลองที่ฝืนกฎธรรมชาติ และผลลัพธ์ที่ย้อนกลับมาทำร้ายผู้สร้างมันขึ้นมา โดยอิงข้อมูลจากเรื่องจริงทางวิทยาศาสตร์ด้วยครับ พวกการทดลอง DNA การโคลนนิ่งอะไรทั้งหลาย เอามาผสมกับจินตนาการแล้วก็ได้เป็นนิยายเรื่องนี้

Crichton มีไอเดียอยากเขียนนิยายเกี่ยวกับไดโนเสาร์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาน่ะครับ แล้วก็พยายามเขียนดูแต่เวอร์ชั่นแรกๆ นั้นเพื่อนๆ ที่ได้อ่านทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวว่าไม่ชอบเลย เป็นอย่างนี้อยู่ 5 – 6 รอบจนเขาต้องมานั่งมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหนกันแน่

หลังจากเขาพิจารณาอยู่กับมันได้พักหนึ่งก็มองเห็นปัญหาครับ ว่าโครงเรื่องของเวอร์ชั่นแรกน่ะ แม้จะเกี่ยวกับพาร์คที่มีไดโนเสาร์เหมือนเวอร์ชั่นปัจจุบัน แต่กลิ่นอายของมันจะออกแนวเบาๆ ไปสักหน่อย มันบอกเล่าเรื่องของไดโนเสาร์ที่หลุดออกจากพาร์ค โดยผ่านทางสายตาของเด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีอะไรให้ตื่นเต้นเร้าใจนัก ซึ่งเขารู้สึกว่ามันอ่อนเหตุผลและดูตลกเกินไป และน่าจะเป็นเจ้าตัวนี้นี่แหละที่เป็นปัญหาใหญ่

ในที่สุดพี่ท่านก็ยกเครื่องใหม่หมดครับ ปรับให้สไตล์เป็นแนวตื่นเต้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จนได้ออกมาเป็นเวอร์ชั่นที่เราได้ดูกันนี่แหละ

เชื่อไหมครับ ว่าความดังของนิยายเรื่องนี้ได้รับการกล่าวขวัญก่อนมันวางจำหน่ายเสียอีก มีสตูดิโอมารุมจีบถึง 6 เจ้าน่ะครับ ซึ่งรายใหญ่ๆ ก็มีค่าย Warner Bros. ที่วางตัวให้ Tim Burton มากำกับ, Columbia Pictures ก็เล็งผู้กำกับ Richard Donner มารอท่า, ค่าย Fox ก็คั่วทั้งนิยายและคั่วผู้กำกับ Joe Dante ให้มาทำหนังเรื่องนี้ และ Universal ก็มาพร้อมผู้กำกับใหญ่อย่าง Spielberg

เมื่อเป็นเช่นนี้ Crichton เลยทำการขอนัดสัมภาษณ์ทั้งสตูดิโอและผู้กำกับทั้งหมดเพื่อประกอบการตัดสินใจ และในที่สุดคนที่เขาไว้วางใจก็คือ Spielberg นี่เอง และ Universal ก็ได้สิทธิ์ไปก่อนนิยายจะวางเสียอีก

Universal ซื้อลิขสิทธิ์มาในราคา $2 ล้าน โดยจ่ายก่อนตอนเริ่ม $500,000 เหนาะๆ เลยครับ

แต่ก็ใช่ว่าจะได้สร้างทันที เพราะแม้นิยายจะออกแล้ว และขายดีมากๆ แต่ Spielberg ก็เอ่ยปากว่ายังไม่ขอกำกับ เพราะเขาอยากทำหนังที่เขารักมากๆ เรื่อง Schindler’s List ก่อน

ในที่สุด Universal ก็เปิดโต๊ะเจรจาครับ เพราะทางค่ายมองว่า Jurassic Park น่ะดังแน่นอน ถ้าไม่รีบทำเดี๋ยวจะสายเกิน ดีไม่ดี Crichton เปลี่ยนใจก็เสียสิทธิ์กันพอดี เลยต่อรองกับ Spielberg ว่า ทำเรื่อง Jurassic Park ก่อน แล้วจะออกทุนเรื่อง Schindler’s List ให้ พร้อมทั้งมอบสิทธิ์อิสระเต็มที่ไปเลย แล้วพ่อมดฮอลลีวู้ดของเราก็ตกลงครับ

แล้วก็ถึงเวลาหาดารานำแสดงครับ รายแรกคือบท ดร.แกรนท์ คนที่เข้าชื่อมาก็มี Harrison Ford แต่คนที่ Spielberg อยากให้รับบทมากกว่าคือ Richard Dreyfuss แต่สองรายนั้นก็ไม่ว่างทั้งคู่ครับ เป้าเลยเล็งมาที่ William Hurt ซึ่งรายนี้บอกปัดไม่ขอแสดงทั้งๆ ที่ไม่ได้อ่านบทหรืออ่านนิยายเรื่องนี้เลยแม้แต่น้อย จนในที่สุดบทก็มาตกเป็นของ Sam Neill

ส่วนบท ดร.แซทเลอร์ ก็มีการวางตัวให้ Juliette Binoche มาแสดง แต่เธอก็บอกปัดเพื่อไปแสดงเรื่องอื่นแทน คนต่อมาที่ทีมงานเล็งก็คือ Robin Wright Penn แต่ขานี้ก็โบกมืออีก เพราะตอนนั้นกำลังจะมีงานเรื่อง Forrest Gump ทำให้บทตกเป็นของ Laura Dern ไป

ในขณะที่ Jeff Goldblum จองบทมัลคอล์มมาแต่ไกลครับ เพราะทุกคนล้วนประทับใจกับบทบาทนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องที่ทำเรื่องสยองในหนัง The Fly กันทั้งนั้น บทนี้เลยเป็นของเขาโดยไม่ต้องแย่งอะไรเลย

Sean Connery ก็ได้รับการทาบทามให้มาแสดงเป็นจอห์น แฮมมอนด์ แต่ลุง Sean ก็ไม่แสดงครับ ในที่สุด Spielberg เลยไปเชิญ Richard Attenborough มาแสดงแทน ซึ่งทำให้วงการฮือฮาไปพอตัว เพราะนักแสดงอาวุโสรายนี้ไม่ได้แสดงหนังมาตั้ง 15 ปี (ส่วนมากจะไปเป็นผู้กำกับมากกว่า)

และพวกเขาก็ไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังครับ แสดงบทบาทในเรื่องได้อย่างดี อย่าง Neill ก็เหมาะกับบทนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งเรื่องภาคสนามและยังมีอาการไม่ชอบวิทยาการกับเด็ก ทำให้มีเรื่องขำๆ ให้เราได้เห็นกันพอตัว Dern ก็เหมาะกับบทนางเอกขาลุยเหมือนกัน โดยเฉพาะฉากที่คุณเธอล้วงมือลงไปควานหาสาเหตุการป่วยของเจ้าสามเขาในกองอุจจาระน่ะครับ

Goldblum ก็เด่นมาก เป็นหนึ่งในตัวละครที่ผมชอบที่สุดในเรื่องเลยครับ แม้แกจะพูดผ่าซากไปบ้าง แต่คำพูดของพี่ท่านก็มีอะไรให้น่าคิดเต็มไปหมด ในขณะที่ Attenborough ก็ไปได้ดีทีเดียวครับกับบทคนแก่หัวดื้อที่มั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำอย่างมาก ที่ผมชอบก็คือฉากที่เขากับดร.แซทเลอร์ถกกันน่ะครับ ว่าอะไรคือจุดผิดพลาดของพาร์ค ซึ่งพูดไปพูดมาแฮมมอนด์ก็ยังมองไม่ออก เอาแต่คิดว่าผิดเพราะคน ผิดเพราะทุนน้อยเกินไป จน ดร.แซทเลอร์ทนไม่ไหว ต้องโต้ไปบ้างว่ามันผิดเพราะเราไปยุ่งกับกฎธรรมชาติต่างหาก

ดาราสมทบแต่ละรายก็น่าจดจำครับ อย่างสองเด็กน้อยหลานของแฮมมอนด์ก็เข้าคู่กับ Neill ได้ดี, Bob Peck เจ้าของบทโรเบิร์ต มัลดูน นักล่าที่คอยต่อกรกับสัตว์ในพาร์คก็เท่ห์ดีครับ สายตาเขามุ่งมั่นสมเป็นนักล่า ฉากที่พี่ท่านต้องเผชิญกับแรพเตอร์นั้นทำได้ตื่นเต้นใช่ย่อยทีเดียว

Wayne Knight ก็ลื่นสุดๆ กับบทเจ้าอ้วนจอมวายร้ายเนดรี่ แค่แววตาก็รู้แล้วครับว่าหมอนี่โกงมาแต่ไกล, Samuel L. Jackson ที่สมัยนั้นยังเล่นแต่บทตัวประกอบก็มาเป็น เรย์ อาร์โนลด์ มือคอมพิวเตอร์ที่ต้องหาทางแก้ปัญหาที่เนดรี่ทำไว้

หนังได้เข้าชิงออสการ์ 3 ตัวครับ แล้วก็คว้าไปได้หมด ในสาขา Sound Effects, Visual Effects และ บันทึกเสียงยอดเยี่ยม ด้านรายได้ก็กระหน่ำทำเงินไปสูงสุดครับ จน Titanic มาโค่นไปเมื่อปี 1997 น่ะแหละ รายได้ทั่วโลกก็ไม่มากไม่น้อย แค่ $914 ล้านน่ะครับ จากทุน $63 ล้าน โกยกำไรสบายๆ

ถือเป็นหนังเรื่องยิ่งใหญ่ที่ทำให้เกิดกระแสไดโนเสาร์ฟีเวอร์ไปทั่วโลก และเป็นผลงานระดับท็อปฟอร์มอีกเรื่องของ Spielberg ซึ่งพี่ท่านมั่นใจกับหนังเรื่องนี้มากๆ ครับ ได้ข่าวว่าตอนถ่ายทำเสร็จ เขาก็มอบหน้าที่ตัดต่อเรียบเรียงให้กับ George Lucas เลยครับ แล้วตัวเองก็ไปทำ Schindler’s List ต่อทันที… ไม่ชัวร์ในหนัง ไม่กล้าขนาดนี้หรอกครับ

ไม่ขอสรุปอะไรมากไปกว่านี้ครับ ตัวหนังมันมีดีในตัวเอง ดูเอาบันเทิงก็ได้ สาระก็ดี แม้จะมีส่วนพร่องบ้างในบางจังหวะที่อาจจะเดินเรื่องช้าเล็กๆ น้อยๆ หรือมิติตัวละครที่อาจไม่ถึงกับลึกซึ้ง แต่โดยรวม นี่คืองานที่คอหนังไม่ควรพลาดจริงๆ ครับ