IMDB : tt0097499
คะแนน : 8
ฤาว่านี่จะคือภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครของ William Shakespeare ได้ยอดเยี่ยมที่สุด, กำกับและแสดงนำโดย Kenneth Branagh รับบทพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ ขณะยกทัพไปสู้รบกับพระเจ้าชาร์ลที่ 6 แห่งฝรั่งเศส ในยุทธการอาแฌงคูร์ต (Battle of Agincourt, ค.ศ. 1415) ระหว่างสงครามร้อยปี
จากบทละครของ William Shakespeare จตุภาค Henriad อันประกอบด้วย Richard II, Henry IV Part 1, Henry IV Part 2 และ Henry V เรื่องราวพรรณาถึงความวุ่นวาย ผลกระทบทางการเมือง ตั้งแต่รัชสมัยของ Richard II กษัตริย์ของอังกฤษ ก่อนและหลังถูกยึดอำนาจโดย Henry IV และรัชสมัยถัดมา โดยหนังนำเฉพาะตอน Henry V มาสร้างเป็นภาพยนตร์
ผมรับชมหนังเรื่องนี้ ต่อจากฉบับปี 1944 ของ Laurence Olivier แบบไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพราะรู้สึกฉบับนั้นถือว่ายอดเยี่ยมสวยงามมากๆแล้ว คงไม่น่าจะมีฉบับอื่นที่สร้างออกมาให้ดีกว่า แต่ขณะรับชมเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า ขนลุกซู่ การตีความคล้ายๆกัน แต่มีความลึกล้ำยอดเยี่ยมกว่ามาก แม้ส่วนตัวจะเข้าใจบทสนทนาประมาณ 60% (เพิ่มขึ้นจากเดิมพอสมควร) แต่หนังมีวินาทีที่ยิ่งใหญ่อลังการ สัมผัสได้โดยสันชาติญาณว่า มันเจ๋งว่ะ! แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับภาพยนตร์ดัดแปลงบทละครของ Shakespeare เรื่องอื่นๆ
สำหรับ Henry V มีการสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว 2 ครั้ง
– Henry V (1944) กำกับและนำแสดงโดย Laurence Olivier ถือว่าเป็นภาพยนตร์ดัดแปลงจากบทละคร Shakespeare เรื่องแรกที่ประสบความสำเร็จ และเข้าชิง Oscar 4 สาขา
– Henry V (1989) กำกับและนำแสดงโดย Kenneth Branagh ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายรับ แต่ได้เข้าชิง Oscar หลายสาขาทีเดียว
Sir Kenneth Charles Branagh นักแสดง/ผู้กำกับชาว Northern Irish เกิดปี 1960 ที่ Belfast, เริ่มต้นจากการเป็นนักเรียน Royal Academy of Dramatic Art ที่ London ต่อมาได้กลายเป็นนักแสดงละครเวที เคยรับบทดังๆอาทิ Romeo (and Juliet), Hamlet, Othello และ Henry V จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักแสดง New Wave คลื่นลูกใหม่ของประเทศอังกฤษ
หลังประสบความสำเร็จกับละครเวที Branagh เริ่มต้นรับงานแสดงภาพยนตร์ จากตัวประกอบใน Chariots of Fire (1981) รับบทนำครั้งแรกใน A Month in the Country (1987) กับ High Season (1987) และผลงานถัดมา กำกับ/แสดงนำใน Henry V
ระหว่างพัฒนาบทหนัง Branagh ตัดสินใจนำ Flashback บางส่วนที่อยู่ใน Henry IV Part 1 และ Part 2 ของตัวละคร Falstaff เข้ามาใส่ด้วย เพื่อเป็นการอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ใน Henry V (ที่มีแค่อยู่ดีๆนอนอยู่บนเตียงใกล้ตาย คนที่ไม่เคยอ่าน/รับชม Henry IV มาก่อนจะได้เข้าใจได้) และมีการเปลี่ยนแปลงผู้พูด ประโยค ‘do not, when thou art King, hang a thief’ เดิมเป็น Falstaff ที่พูดประโยคนี้ (จงอย่า, เมื่อท่านเป็นกษัตริย์, แขวนคอโจร) แต่ในหนังเปลี่ยนเป็น Bardolph ใน Flashback เพื่อสะท้อนสิ่งที่เขาทำไปแล้ว
สำหรับการแสดง ต้องถือว่า Branagh เข้าใจตัวละครนี้อย่างถ่องแท้ เพราะมีการตีความทางอารมณ์ในทุกประโยคคำพูด ทำให้ผู้ชมที่ถึงจะฟังบทสนทนาไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อย่างน้อยที่สุดคือสามารถรับรู้อารมณ์ของตัวละคร เข้าใจความต้องการของเขาได้
ระหว่าง Laurence Olivier กับ Kenneth Branagh ในบทของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 5 ตัดสินยากมากๆๆว่าใครเด่นกว่า, คือ Olivier มีความคลาสสิกทรงพลังในแบบละครเวที ส่วน Branagh ลุ่มลึกเร้าอารมณ์ในแบบภาพยนตร์ เรียกว่าตีความตัวละครคนละมุม … ก็แล้วแต่ความชอบของคุณแล้วนะครับ ส่วนตัวชอบการแสดงของ Branagh มากกว่า เพราะรู้สึกจับต้อง เข้าใจตัวละครได้ชัดแจ้งกว่า
ถ่ายภาพโดย Kenneth MacMillan ความโดดเด่นคือการจัดแสงเงาให้ได้บรรยากาศ, การเคลื่อนกล้องและตำแหน่งการจัดวางที่มีนัยยะสำคัญ
งานถ่ายภาพในหนัง หลายฉากมีความตรงไปตรงมา จัดวางกึ่งกลาง/แบ่งครึ่งสองฝั่ง ด้านหน้า/ด้านข้าง (นี่มีนัยยะถึงการเสมอภาค)
สำหรับฉากการสงคราม ใช้สายฝน ฝุ่นหมอก ขี้โคลนเลน สาดกระเซ็นแทนเลือด (แต่ก็ยังมีให้เห็นบ้าง) ภาพสโลโมชั่นทำให้เกิดอารมณ์ (สวยงามเหมือนบทกวี) ได้ยินเสียงกระทบกันของดาบ เกราะ โล่ แต่จะไม่ค่อยช็อตที่เห็นตัดแขนขา หัวขาด เลือดกระฉูด ฯ นี่สามารถมองได้ว่าเป็นภาพ Visual Graphic ให้รู้ว่ามีการต่อสู้สงคราม แต่มีความสมจริงกว่า Henry V (1944) อยู่มาก
ตัดต่อโดย Michael Bradsell, หนังเล่าเรื่องโดยมีการบรรยาย ปรากฎตัวของท่านเซอร์ Derek Jacobi เริ่มต้นจากด้านหลังโรงถ่ายหนัง เปิดประตูย้อนเวลา เดินเข้าสู่เรื่องราว/บทละคร, เมื่อจบแต่ละองก์ท่าน Jacobi จะเดินออกมาราวกับเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ บรรยายนำเข้าสู่เรื่องราว เช่น ยืนมองดูแผ่นดินผืนน้ำ, อยู่ในสถานรบ ฯ
เพลงประกอบโดย Patrick Doyle นี่เป็นผลงานประกอบภาพยนตร์เรื่องแรก เดิมเป็นผู้ควบคุมวงดนตรีให้กับ Renaissance Theatre Company รู้จักกับ Branagh เคยร่วมงานกันมา จึงได้รับความไว้วางใจให้ทำเพลงกับหนัง, มีลักษณะเติมเต็มบรรยากาศของหนัง ในช่วงการเปลี่ยนฉาก/เรื่องราว เพื่อสร้างความต่อเนื่อง และบรรยายอารมณ์ของหนังในขณะนั้น
ส่วนตัวหลงรักหนังเรื่องนี้ในความลุ่มลึก และการตีความที่แสดงอารมณ์ของตัวละครออกมา ทำให้สามารถซึมซับ รับความเข้าใจการสนทนาได้ (โดยแม้ไม่รู้ว่าพูดคุยอะไร) และตอนจบสงคราม ขณะพระเจ้าเฮนรีที่ 5 เดินผ่านสมรภูมิรบครั้งสุดท้าย เป็น long-take พร้อมกับเพลง Non Nobis, Domine ที่ก็ไม่รู้แปลว่าอะไร แต่ทำให้ผมขนลุกซู่ ตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของบทละครนี้
แต่หนังมีตำหนิหนึ่ง ที่ผมมองว่าไม่ได้มาจากข้อผิดพลาดของหนัง แต่เป็นความไม่ยอมจบของบทละคร Shakespeare นั่นคือ Epilogue การเกี้ยวพาราสีระหว่าง พระเจ้าเฮนรีที่ 5 กับ แคทเธอรีนแห่งวาลัวร์ นี่เป็นเหตุการณ์ผิดที่ผิดทาง ไม่มีใครเขาสนใจกันแล้วว่าทั้งสองจะได้กันยังไง ก็รู้ว่าได้แต่งงานกันก็พอแล้ว ยังจะยื้อยัก เล่นตัวไม่ยอมจบไปทำไม
แนะนำกับผู้หลงใหลในบทละครของ William Shakespeare โดยเฉพาะจตุภาค Henriad, ชื่นชอบหนังย้อนยุค (Period) ประวัติศาสตร์ยุคกลาง แนวสงคราม และแฟนหนัง Kenneth Branagh, และนักแสดงสมทบชื่อดังอย่าง Ian Holm, Emma Thompson, Judi Dench และ Christian Bale วัยละอ่อน