ค้นหาหนัง

Downfall: The Case Against Boeing ร่วง วิกฤติโบอิ้ง

หมวดหมู่ : หนังสารคดี
Downfall: The Case Against Boeing ร่วง วิกฤติโบอิ้ง
เรื่องย่อ : Downfall: The Case Against Boeing ร่วง วิกฤติโบอิ้ง

เจ้าหน้าที่สืบสวนเผยเบื้องหลังธุรกิจของโบอิ้งที่ถูกครหาว่า ให้ค่าผลกำไรมากกว่าความปลอดภัยของผู้โดยสาร จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงสองครั้งในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน

IMDB : tt11893274

คะแนน : 9



เหตุการณ์เครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 737-800 เที่ยวบิน MU5735 ของสายการบินไชนา อีสเทิร์น แอร์ไลน์ส ประสบอุบัติเหตุตกพร้อมผู้โดยสารและลูกเรือ 132 ชีวิต ขณะเดินทางออกจากเมืองคุนหมิง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความเศร้าสลดไปทั่ว

ขณะเดียวกันการตกแบบปักหัวดิ่งลงมาโหม่งพื้นโลกซึ่งเป็นกรณีที่พบไม่บ่อยนัก ก็ส่งผลให้เคสเครื่องบินตกครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การพูดถึงสารคดีของ Netflix ที่ชื่อว่า ‘Downfall: The Case Against Boeing’ หรือ “ร่วง: วิกฤตโบอิ้ง” กันขึ้นมาอีกครั้ง

นั่นเพราะ ‘Downfall: The Case Against Boeing’ เป็นสารคดีที่พูดถึงสาเหตุการตกของเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 ติดกันสองลำเมื่อประมาณสีปี่ก่อน ซึ่งนอกจากเครื่องจะตกหลังจากที่เทคออฟได้เพียงแค่ไม่กี่นาทีเหมือนกันแล้ว เครื่องที่ตกยังเป็นรุ่น 737 เหมือนกันอีกด้วย

ต่างกันเพียงนิดเดียวคือเครื่องบิน 2 ลำที่ตกในสารคดีเป็นเครื่องโบอิ้งรุ่น 737 MAX ส่วนเครื่องที่ประสบอุบัติเหตุตกในคุนหมิงเป็นเครื่องบินโบอิ้งที่ได้รับการพัฒนามาแล้วเป็นรุ่น 737-800

ทว่า ความน่าสนใจของ ‘Downfall: The Case Against Boeing’ หรือ “ร่วง: วิกฤตโบอิ้ง” ไม่ได้มีแค่การเจาะลึกหาสาเหตุเครื่องบินตก หรือผลกระทบที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเท่านั้น แต่มันยังสะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดของอุตสาหกรรมการบินอีกด้วย

เครื่องบิน 737 MAX เป็นเครื่องบินที่โบอิ้งพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยหวังแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงพุ่งขึ้นทั่วโลก ประกอบกับบริษัทแอร์บัสของยุโรปได้ผลิตเครื่องบินรุ่น A320neo ที่ประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้นออกมาแข่ง

โบอิ้งตัดสินใจหาทางออกจากเรื่องนี้ด้วยการปรับปรุงเครื่องบินโดยสาร 737 ที่ใช้มานานร่วม 40 ปี เป็นรุ่น 737 MAX และนำออกมาใช้ในเดือนสิงหาคม 2018 แต่หลังจากนำขึ้นบินได้เพียง 2 เดือน เครื่องบินรุ่นดังกล่าวกลับประสบอุบัติเหตุตกติดต่อกันถึง 2 ลำ ภายในระยะเวลาห่างกันไม่ถึง 5 เดือนดี

ลำแรกเป็นของสายการบิน ไลออน แอร์ ตกที่อินโดนีเซีย ในเดือนตุลาคม 2018 อีกลำเป็นของสายการบิน เอธิโอเปียน แอร์ไลน์ส ตกที่เอธิโอเปีย ในเดือนมีนาคม 2019 โดยอุบัติเหตุทั้งสองครั้งมีผู้เสียชีวิตรวมกัน 346 คน

Downfall: The Case Against Boeing’ เปิดเรื่องด้วยการจำลองเหตุเครื่องบินตกที่อินโดนีเซีย แล้วไปสัมภาษณ์ภรรยานักบินถึงเหตุการณ์ในวันนั้นที่เธอเล่าว่าเฝ้าตามอ่านข่าวตลอดแล้วก็พบว่ามันเป็น blame game กล่าวโทษกันไปกันมา โดยเฉพาะสามีของเธอผู้เป็นนักบินนั้นถูกกล่าวหามากที่สุด

ในตอนแรก แทบไม่มีใครมองว่าเป็นความผิดพลาดของเครื่องบินเลย เพราะชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของโบอิ้งที่สั่งสมมายาวนาน ประกอบกับไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปเช่นนั้นได้

แต่เมื่อได้ข้อมูลจากกล่องดำมา ความคิดเห็นก็เริ่มเปลี่ยนไปเพราะมันแสดงให้เห็นว่าเกิดความผิดปกติกับตัวเครื่องที่คอยแต่จะเอาหัวดิ่งลง นักบินได้พยายามต่อสู้อย่างหนักที่จะดึงเครื่องบินกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ไม่สำเร็จ

ขณะที่ทางโบอิ้งก็ยังคงยืนยันถึงความปลอดภัยของเครื่องบินรุ่นนี้ แถมนักข่าวของ “เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัล” ยังไปเจาะข้อมูลมาได้ว่า ผู้บริหารของโบอิ้งพูดออกมาว่าถ้าเป็นนักบินอเมริกันก็คงไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นหรอก ซึ่งเหมือนเป็นการกล่าวโทษกัปตันชาวอินโดนีเซียกลายๆ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นักข่าว “เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัล” กัดไม่ปล่อย และเริ่มหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการออกแบบเครื่องบินรุ่นนี้ขึ้นมา ท้ายที่สุดโบอิ้งก็ออกแถลงการณ์ว่าระบบเอ็มแคส (MCAS) ของเครื่องไลออน แอร์ทำงานผิดพลาดจึงเกิดเหตุน่าเศร้าขึ้น แต่ก็ยังไม่วายโทษนักบินว่าไม่ตอบสนองในแบบที่พวกเขาคาดไว้ นั่นคือ ไม่ได้ปิดระบบเอ็มแคสที่จะคอยกดหัวเครื่องบินลง

แถลงการณ์ดังกล่าวทำให้แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ และนักข่าวที่คลุกคลีกับเครื่องบินมาตลอดพากันถามว่าอะไรคือ เอ็มแคส พวกเขาไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อนเลย

เท่านั้นยังไม่พอ “เดอะ วอลสตรีท เจอร์นัล” ยังไปเจาะลึกข้อมูลวงในจากผู้บริหารระดับสูงของโบอิ้งมาว่าทางบริษัทไม่เคยบอกนักบินเลยว่ามีระบบเอ็มแคสนี้อยู่ในเครื่อง ทำให้นักบินไม่เคยได้รับการฝึกฝนให้ใช้งานระบบนี้

เรื่องนี้ทำให้บรรดานักบินไม่พอใจเป็นอย่างมาก ทางโบอิ้งจึงติดต่อมายังสหภาพนักบินเพื่ออธิบายให้ฟังถึงระบบเอ็มแคส พร้อมรับปากว่าจะเปลี่ยนซอฟท์แวร์ที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรให้เสร็จภายใน 6 สัปดาห์ ท่ามกลางความสงสัยของนักบินว่า ทำไมไม่สั่งห้ามบินเครื่องรุ่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ

แต่แล้วเพียง 19 สัปดาห์หลังจากที่เครื่องไลออน แอร์ตก ในเดือนมีนาคม 2019 ก็ประสบเหตุแบบเดียวกันกับเครื่องโบอิ้ง 737 MAX ของสายการบินเอธิโอเปียน แอร์ไลนส์ นั่นคือ ตกหลังจากเทคออฟไม่นาน ในระดับความสูงที่ไม่มากนัก แถมสภาพอากาศและทัศนวิสัยยังดีเยี่ยม

ถึงกระนั้น ทางโบอิ้งก็ยังยืนยันความปลอดภัยของ 737 MAX พร้อมกล่าวว่าทาง FAA องค์การบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ ยังไม่สั่งให้ทำอะไรเพิ่มเติมเลย ขณะที่ทาง FAA นั้นบอกว่ายังรอข้อมูลอยู่จึงไม่อาจด่วนสรุปไปเช่นนั้นได้

จนกระทั่งจีนออกมาสั่งห้ามนำเครื่องรุ่นนี้ขึ้นบินเป็นประเทศแรก หลังจากนั้นก็มีประเทศอื่นทยอยประกาศห้ามบินตามกันมาเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเป็นการตบหน้า FAA เข้าไปฉาดใหญ่

หลังจากนั้นไม่นานก็กู้ข้อมูลกล่องดำของเครื่องเอธิโอเปียนมาได้ และพบว่าเหตุการณ์คล้ายคลึงกับไลออน แอร์มาก แต่มีปัจจัยเพิ่มเติมมาหนึ่งอย่าง คือ แจ็คสกรู ที่ควบคุมทริมส่วนหาง ไหลไปกองอยู่ตรงส่วนที่หัวเครื่องพุ่งลง ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่าสาเหตุของเครื่องบินตกก็คือเอ็มแคส

ข้อมูลดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งห้ามนำเครื่อง 737 MAX ขึ้นบินในทันที ตามมาด้วยการสอบสวนเรื่องนี้จากสภาคองเกรส ครอบครัวเหยื่อมาชุมนุมกันที่ ดีซี กดดันโบอิ้งออกมารับผิดชอบ และเปิดเผยความจริง แต่โบอิ้งก็ยังยืนกรานเหมือนเดิมว่าตัวเครื่องปลอดภัย แต่นักบินนั้นไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่ควรจะทำอย่างครบถ้วน

แต่แล้ว “เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล” ก็นำข้อมูลวงในจากห้องนักบินเอธิโอเปียนมาเปิดเผย และพบว่านักบินทำทุกอย่างตามที่โบอิ้งบอก นั่นคือ ปิดระบบเอ็มแคสแล้ว แต่เครื่องก็ยังตกอยู่ดี

สารคดีเรื่องนี้ยังย้อนเล่าไปถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง และเต็มไปด้วยเกียรติภูมิของโบอิ้ง ก่อนจะเข้าควบรวมกิจการกับแมคคอนเนลล์ดักลาส ทำให้การบริหารงาน และวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การควบคุมของซีอีโอ แฮร์รี สโตนไซเฟอร์