IMDB : tt8443704
คะแนน : 7
หนังเสนอภาพเควียร์ผ่าน ‘ชายชู้’ ผู้กำกับละครเวทีสุดคูล ผู้เป็นมนุษย์สามัญคนหนึ่งที่มีความรักลึกซึ้งกับผู้ชายอีกคน และ ‘ลูกชาย’ ที่เป็นความหวังของแม่ เด็กชายที่กลายเป็นเด็กมีปัญหาหลังจากที่พ่อแยกทางกับแม่มากว่า 3 ปี แล้วพ่อก็ตายไปโดยที่ไม่แม้แต่จะร่ำลา เด็กที่รู้มาตั้งนานแล้วว่าพ่อตัวเองเป็นเกย์และอยากรู้จักชีวิตด้านนั้นของพ่อให้มากขึ้น
ท่ามกลางความวุ่นวายต่างๆ ในเรื่อง เราไม่พบเห็นใครสักคนที่มีลักษณะบ่งบอกชัดเจนว่าเป็น ‘ชายแท้’ หากจะมีก็น่าจะเป็นนักเลงสองคนที่มาทวงหนี้นอกระบบด้วยวิธีแมนๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามัน toxic และแม้เราแทบไม่เห็นตัวละครชายแท้ แต่ทั้งเรื่องกลับเต็มไปด้วยผลพวงของสังคมชายเป็นใหญ่ ซึ่งหลายครั้งผู้หญิงก็เป็นฝ่ายสืบทอดวิธีคิดอย่างนี้มากดทับพวกเดียวกันเองไปเรื่อยๆ
หนังสื่ออย่างชัดเจนว่าการพยายามฝืนธรรมชาติและบังคับใครให้ทำตามกรอบจารีตสังคมนั้นนำมาซึ่งโศกนาฏกรรม ไม่ใช่แค่ชีวิตตัวเองแต่ส่งผลไปที่คนอื่นอีกเป็นทอดๆ แม้ที่สุดแล้วความรักจะเยียวยาทุกสิ่งได้ก็ตาม แต่กว่าจะถึงจุดนั้นก็ต้องผ่านความทุกข์ระทมไปไม่รู้กี่ระลอก
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ เราพบว่าจริตออกสาวแทบไม่ปรากฏในตัวของชายทั้งคู่ที่รักกันเลย (หากไม่นับห้องสวยเก๋ของอาเจี๋ย) ความเควียร์ในเรื่องเป็นความรักล้วนๆ และเราไม่ได้เห็นตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศรายอื่นๆ แต่อย่างใด
ดูเหมือน Dear Ex จะเป็นหนังที่เสนอภาพเควียร์แบบ ชายรักชาย การเสนอภาพ เกย์=ออกสาว นั้นกดทับแน่ๆ แต่ในทางกลับกัน การเสนอภาพเกย์แมนๆ ไร้จริตสาวซึ่งแง่หนึ่งเป็นการโต้กลับภาพข้างต้น แต่เมื่อมันถูกผลิตออกมามากๆ จะกลับกลายเป็นการกดทับเกย์ออกสาวหรือไม่ นั่นเป็นสิ่งที่เราสงสัยตามมา และยังพยายามหาคำตอบอยู่เหมือนกัน