ค้นหาหนัง

Dead Poets Society | ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน

Dead Poets Society | ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน
เรื่องย่อ : Dead Poets Society | ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝัน

Dead Poets Society เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับ Peter Weir หนังเรื่องนี้กล่าวเกี่ยวกับชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนเตรียมชายล้วนที่เข้มงวดมีแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม โดยเล่าเรื่องราวของอาจารย์สอนภาษาอังกฤษ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเรียนเปลี่ยนแปลงแนวทางชีวิตที่ตอบสนองความต้องการของสังคม

IMDB : tt0097165

คะแนน : 10



ผลงานกำกับของ Peter Weir ครับ พี่แกเก่ง ทำหนังทีไรได้วิ่งไปเดินเล่นบนเวทีออสการ์ทุกที อันนี้ก็เป็นเรื่องของจอห์น คีตติ้ง (Robin Williams) คุณครูหัวสมัยใหม่ ผู้มาพร้อมกับแนวคิดที่ไม่เหมือนใคร ตั้งแต่การมองโลก การใช้ชีวิตและการทำตามความฝันของตน และด้วยลักษณะเหล่านี้ จึงทำให้ครูคีตติ้งเป็นที่รักของนักเรียนอย่างมาก แต่ทว่า เพราะความล้ำหน้านี่เอง ที่ทำให้ครูหัวเก่า (ซึ่งก็เก่าทั้งโรงเรียนนั่นแหละ) ไม่ยอมรับและหาทางขับไล่ครูคีตติ้งออกไป

และ ก็เป็นเรื่องปกติ ที่ผู้กำกับ Weir แกจะทำหนังแบบนิ่งๆ เรื่อยๆ เอื่อยๆ แต่มีพลังแทรกอยู่ตลอด ปล่อยให้ดาราเล่นไป ปล่อยให้บทดำเนินไป ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติครับ จึงทำให้หนังส่วนใหญ่ของเขาล้วนติดดิน สัมผัสได้ทั้งสิ้น ทุกตัวละครเราจะรู้สึกได้เลยว่ามีอยู่จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ดารามาเล่นเท่านั้น นี่แหละครับ สไตล์ของผู้กำกับ Weir

ตัว หนังเอง ดีครับ ซาบซึ้งและมีอะไรให้อึ้งอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการตัดสินใจของ นีล (Robert Sean Leonard) ลูกศิษย์คนหนึ่งของครูคีตติ้งที่อยากเล่นละครแต่พ่อแม่ไม่ยอมนั่นแหละฮะ สำหรับหนังเรื่องนี้ มันเหมือนกับเป็นการพบกันระหว่างความคิดแบบเก่าของพ่อแม่ กับ ความคิดระบบใหม่ของคนเป็นลูก ซึ่งด้วยความที่วัยต่างกันจึงมักจะมองอะไรต่างกันไป อย่างเรื่องเรียนที่พ่อแม่มักจะมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จและมั่นคงของลูกเป็น สำคัญ ส่วนลูกจะชอบไม่ชอบเห็นเป็นเรื่องรองลงมา ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญนะครับ เพียงแต่พวกท่านมักจะคิดว่า ให้ลูกเรียนๆ ไป เดี๋ยวก็ชอบเองแหละ

ในขณะที่คนเป็นลูก ก็ด้วยความเป็นวัยรุ่นน่ะครับ ติดเพื่อนก็ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว แล้วยังบวกด้วยความต้องการจะทำตามความฝันอีก ดังนั้นการที่ความคิดมันจะสวนทางกับพ่อแม่จึงเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งทางที่ดี ก็พบกับครึ่งทางสิครับ คุยกันดีๆ มันก็ต้องอาศัยการประนีประนอมล่ะนะครับทีนี้

แนวคิดของหนังจะว่าไป มันก็เป็นการสอนให้คนรู้จักที่จะกบฎแบบกลายๆ น่ะครับ อา นี่ไม่ใช่ความหมายไม่ดีนะครับ กบฎที่ว่านี่หมายถึงการรู้จักกบฎทางความคิด รู้จักสร้างสรรค์และมองเรื่องต่างๆ ในมุมมองที่แตกต่างกัน ไม่ได้หมายถึงให้จับปืนไปก่อรัฐประหารนะฮะ อย่างวรรณกรรมเป็นต้น พวกระบบอ่านๆๆๆ ท่องๆๆๆ กลอนก็ท่องเข้าไป สอบท่องจำ แล้วพอหลายปีผ่านไปก็ไม่ได้มีอะไรงอกเงยในหัวเงี้ย มันต้องเปลี่ยนแปลงแล้วจริงมั้ยครับ เปลี่ยนเป็นวิเคราะห์สิ เช่นนักเรียนอ่านแล้วคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร ลองถามมาให้นักเรียนตอบไป และแต่ละคำตอบที่ออกมาจากปากและความคิดของนักเรียนนี่แหละที่จะสามารถบอกถึง ความเป็นตัวเขาได้อย่างดี

และไอ้ที่นักเรียนตอบมานี่มันก็ย่อมต้อง หลากหลายน่ะครับ มีแปลกๆ บ้าง แต่พอนักเรียนตอบพิลึกมาก็ไมไ่ใช่รีบสวนไปเลยว่า “มั่วๆๆๆ ผิดแล้วเธอ” ไรเงี้ย ก็ไม่ควรนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องของความคิดอ้ะ เราควรถามไปมากกว่าว่าเธอตอบอย่างนี้ เพราะอะไร จะได้สำรวจความคิดเด็กไปในตัวเลย

เนี่ยครับ ระบบสอนให้คิด ที่เราก็รู้กันมานานปีแล้วว่าควรทำซักที ก็ได้แต่หวังว่าตอนนี้มันจะเป็นรูปเป็นร่างที่มั่นคงซะทีนะครับ (หรือผมฝันไปหว่า?)

กับหนังเรื่องนี้ ก็ทำได้ดีอีกเรื่องนึงแล้วล่ะครับ ซึ่งจะเป็นพ่อแม่หรือลูกก็ควรดูทั้งสิ้น แล้วหันมาเข้าใจกัน หันมาคุยกันดีๆ อย่าปล่อยให้กรณีที่เกิดกับนีลมาเกิดกับลูกของคุณเลยนะครับ

นี่คืองานกำกับชั้นดีของ Peter Weir ครับ ขานี้ทำหนังทีไรได้ไปเดินเล่นบนเวทีออสการ์ทุกที อย่างเรื่องนี้ก็ได้รางวัลออสการ์สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครองเช่นกัน

Dead Poets Society เป็นเรื่องของนักเรียนชายกลุ่มหนึ่ง (นำโดย นีล เพอร์รี่ ที่รับบทโดย Robert Sean Leonard และ ท็อดด์ แอนเดอร์สันแสดงโดย Ethan Hawke) ที่ได้แรงบันดาลใจจากครูหนุ่มใจดีนามว่าจอห์น คีตติ้ง (Robin Williams กับการแสดงระดับตำนานอีกบทหนึ่ง) ที่สอนให้ลูกศิษย์สนใจใฝ่รู้มากกว่าตัวหนังสือในตำรา สอนให้ฟังสิ่งรอบตัว ไม่เว้นแม้แต่ภาพถ่ายและกำแพง

และเหนืออื่นใดคือ เขาพยายามชี้แนวทางการหาตนเองให้พบเจอ เพื่อจะได้เดินสู่อนาคตที่ตนรักและต้องการอย่างแท้จริง… แค่พล็อตก็ชวนให้บันดาลใจแล้วใช่ไหมครับ ซึ่งบอกได้เลยว่าถ้าใครยังไม่เคยดู ก็แนะนำให้ดูเลยนะครับ หนังเรื่องนี้มีดีคุ้มที่คุณจะให้เวลามันสัก 2 ชั่วโมง 8 นาทีเพื่อนั่งชมและซึมซับเรื่องราวที่หนังร้อยเรียงเพื่อให้เราเก็บไปคิดเป็น การบ้านชีวิต

ว่ากันถึงตัวหนังก่อนนะครับ หนังยังคงเอกลักษณ์ของผู้กำกับ Weir ไว้อย่างดี เพราะเขาจะทำหนังแบบนิ่งๆ เรื่อยๆ แต่มีพลังแทรกอยู่ตลอด ปล่อยให้ดาราเล่นไป ปล่อยให้บทดำเนินไป ทุกอย่างเป็นไปอย่างธรรมชาติครับ จึงทำให้หนังส่วนใหญ่ของเขาล้วนติดดิน สัมผัสได้ทั้งสิ้น ทุกตัวละครเราจะรู้สึกได้เลยว่ามีอยู่จริง นี่แหละครับ สไตล์ของผู้กำกับ Weir

ดูหนังเรื่องนี้แล้วชวนให้เราคิดเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยครับ ระหว่างความคิดแบบเก่าของพ่อแม่และความคิดระบบใหม่ของคนเป็นลูก ซึ่งด้วยความที่วัยต่างกัน ผ่านอะไรมามากน้อยไม่เท้ากัน พ่อแม่และลูกจึงมักจะมองอะไรต่างกันไป

อย่างเรื่องเรียนนั้น พ่อแม่จะมุ่งเน้นไปที่ความสำเร็จและมั่นคงของลูกเป็นสำคัญ ส่วนลูกจะชอบหรือไม่ชอบในทางที่พวกท่านเลือกให้ก็จะมองเป็นเรื่องรอง ไม่ใช่ว่าท่านเห็นว่าไม่สำคัญนะครับ เพียงแต่พวกท่านมักจะคิดว่า ให้ลูกเรียนๆ ไป เดี๋ยวก็ชอบเองแหละ

ในขณะที่คนเป็นลูก ก็ด้วยความเป็นวัยรุ่นน่ะครับ ติดเพื่อนประมาณหนึ่งอยู่แล้ว ไหนจะบวกด้วยความต้องการจะทำตามความฝันอีก ดังนั้นการที่ความคิดจะสวนทางกับพ่อแม่จึงเกิดขึ้นได้เสมอครับ

ทางออกที่ดีคงจะเป็นการพบกันครึ่งทางน่ะครับ คุยกันดีๆ ฝ่ายพ่อแม่ก็ต้องให้โอกาสลูกในการพิสูจน์ตนเอง ตามด้วยการสนับสนุนคอยแนะนำอยู่ข้างหลัง ส่วนลูกก็ต้องเดินหน้าอย่างมุ่งมั่น ทำมันให้เต็มที่ เพื่อให้พ่อแม่เชื่อว่าเรานั้นทำได้ และเราจะสามารถดูแลอนาคตของตัวเองได้

อีกจุดหนึ่งที่ผมชอบ (และเชื่อว่าอีกหลายคนก็น่าจะประทับใจ) คือการสอนของครูคีตติ้งครับ วิธีที่ครูนำมาใช้กับเด็กนักเรียนออกจะเป็นอะไรที่ใหม่และแหวกแนว ซึ่งเป็นการสอนแบบกระตุ้นความคิด กระตุ้นต่อมวิเคราะห์ ไม่ได้เน้นให้เด็กท่องจำหรือทำตามๆ กันไป แต่สอนให้คิด ให้ตั้งคำถาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้คนมากมายประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงกันมานักต่อนักแล้ว

แต่ด้วยการสอนที่ไม่เหมือนใครของครูคีตติ้งนี่เอง ที่ทำให้อาจารย์แทบทั้งโรงเรียนมองครูคีตติ้งว่าเป็นตัวประหลาด เพราะมันขัดกับแนวเดิมที่การสอนต้องเกิดในห้องเรียนเท่านั้น ทุกอย่างที่ควรรู้ก็อยู่แต่ในตำรา เรียนแค่นั้นก็พอ ส่วนอย่างอื่น (เช่น การใช้สมองหรือลองวิเคราะห์) ก็อย่าไปคิดให้มากความ จงตั้งใจเรียนและทำคะแนนให้ดีเพียงอย่างเดียวเป็นพอ

การสอนแบบนั้นอาจมีดีตรงที่ให้ความรู้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยกับเด็ก แต่ไม่ได้เปิดโอกาสเพิ่มเติมความฉลาดทางอารมณ์หรือทักษะอื่นๆ ให้เด็กสักเท่าไร (ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านั้นสำคัญต่อเด็กมาก โดยเฉพาะสำหรับการดำเนินชีวิตหลังเลืกเรียน)

อีกทั้งการสอนแบบ Strick แบบนี้ จะทำให้เด็กยึดติดกับเกรดครับ มองว่าเกรดคือทุกอย่าง จนส่งผลให้เด็กบางคนผิดหวังอย่างรุนแรงหากเกรดตกลงแม้เพียงนิดเดียว และนั่นล่ะครับคือสิ่งอันตรายที่ทำให้เด็กหลายคนเลือกจะคิดสั้น เพราะเขาคิดว่า “เกรดที่ตก” คือสัญญาณแห่งการหมดอนาคต…

อะไรมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่เหมาะ มันต้องหาจุดกลางครับถึงจะสบายใจ แต่ยอมรับจริงๆ ว่าเรื่องเรียนนี่คนเรามักหาจุดกลางไม่เจอ ถ้าไม่ทุ่มแบบเรียนถึงตายก็จะปล่อยแบบไม่ใส่ใจ ไม่เข้าเรียนไปเลย… ยังไงก็ต้องลองหาจุดกลางนะครับ ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องเรียนก็ตาม

ผมเชื่อว่าหลายคนดูหนังเรื่องนี้แล้วพากันคิดไปในแนวที่ว่า หนังสอนเราว่าอย่าไปบังคับเด็กและการเรียนการสอนในตำรานั้นเป็นวิธีครำครึ เราควรหันมาใช้วิธีสอนให้เด็กคิดกันเยอะๆ อย่าไปยึดกับตำราอีกเลยจะดีกว่า ผมเองก็เคยคิดเช่นนั้นเหมือนกันครับ จนพอโตขึ้นค่อยมามองหนังลึกลงไปอีกขั้น… เลยยิ่งทึ่งในบทหนังเข้าไปอีก

ดูเผินๆ เหมือนหนังจะต่อว่าระบบการศึกษาที่พึ่งพาแต่ตำรา แล้วก็ตำหนิพ่อแม่ชอบบังคับจิตใจลูก แต่เอาเข้าจริงหนังไม่ได้ชวนให้คิดแค่นั้น แต่ยังแอบวิพากษ์แนวทางใหม่ของครูคีตติ้งผ่านทางโศกนาฏกรรมของนักเรียนชายคนหนึ่งด้วย (ผมจะเขียนแบบมีสปอยล์ปนแล้วนะครับ หากไม่อยากทราบก็ไม่ต้องอ่านต่อดีกว่าครับ ข้ามไปอ่านดาวได้เลย)

คนที่ดูมาแล้วย่อมจำได้ครับ ว่านักเรียนคนนั้นคือ นีล หนึ่งในตัวเอกของเรื่องที่พ่อแม่คาดหวังให้เรียนสูงๆ ไปต่อแพทยศาสตร์ ซึ่งนีลก็ถูกปลูกฝังมาตลอดว่าต้องเรียนดี ต้องเป็นหมอ เขาก็ตั้งใจตามนั้นเสมอมา จนกระทั่งได้แรงบันดาลใจจากครูคีตติ้งที่สอนให้ลูกศิษย์จับความฝันของตัวเองให้ได้ พร้อมทั้งพิจารณามันว่าเราชอบความฝันนั้นมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะเดินหน้าสานฝันให้มันเป็นจริง

ในที่สุดนีลก็ค้นพบว่าตนเองชอบการแสดงเป็นอย่างยิ่ง เลยอยากให้พ่อแม่ช่วยสนับสนุน แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน พ่อแม่ก็ไม่เข้าใจ จนนีลต้องแอบไปแสดงละครเวทีท้องถิ่น ซึ่งเขาแสดงได้ดีนะครับ มีพรสวรรค์จนน่าปรบมือ แต่นั่นกลับไม่อาจเปลี่ยนใจพ่อแม่ได้เลย สุดท้าย เขาเลยตัดสินใจว่าหากไม่ได้เข้าสู่ถนนสายการแสดง ก็ขอจบชีวิตตนเองลงดีกว่า… จากนั้นก็อย่างที่เดากันได้ครับ เกิดเป็นโศกนาฏกรรม เป็นบทสรุปที่น่าสลดใจ

คนส่วนมากมักวิจารณ์เรื่องนี้ไปในแนวทางว่าพ่อแม่บังคับลูกเกินไป แต่ผมก็มองอีกด้านหนึ่งว่าจุดจบของนีล ส่วนหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของครูคีตติ้งด้วยเช่นกัน

ครูคีตติ้งนั้นสอนสั่งความรู้แบบใหม่ให้นักเรียนด้วยความปรารถนาดีจากใจ อยากบันดาลใจนักเรียนทุกคนให้มีพลังตามความฝัน แบบที่ครูคีตติ้งเองก็เคยได้รับมาจากอาจารย์ของเขา

ครูคีตติ้งอยากให้ลูกศิษย์ได้เรียนรู้ชีวิตอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่เอาแต่ตาจ้องตำราเรียน จนลืมมองสิ่งรอบข้างที่มีคุณค่าไม่แพ้กัน

แต่สิ่งที่ครูคีตติ้งพลาดไปคือ เด็กเหล่านี้ถูกบังคับมานาน เมื่อพวกเขาถูกจุดประกายสู่ความเป็นอิสระ มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พวกเขาจะพุ่งเข้าหามันราวกับค้างคาวที่กรูออกนอกถ้ำ และตามธรรมชาติแล้ว การกรูกันไปแบบนั้นก็ย่อมมีทางความสุขสมหวังและความผิดหวังรออยู่ที่ปลายทาง เช่นเดียวกับฝูงค้างคาวที่ออกมาแต่ละทีก็มีทั้งรอดและตาย นี่เองคือสิ่งที่ครูคีตติ้งคาดไม่ถึง ว่าหากลูกศิษย์เจอความผิดหวังแล้วผลมันจะรุนแรงแค่ไหน

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงท้ายหลังเกิดเรื่อง ครูคีตติ้งจึงไม่พยายามแก้ตัว ไม่พยายามบอกกล่าวอะไรกับนักเรียนให้มากมาย เพราะเขาต้องการทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักในความผิดพลาดของตนเองอย่างสงบ

อ่านมาหลายย่อหน้า หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นแล้ว เราควรจะคิดอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ดี เพราะการเรียนที่เข้มเกินไป ยึดตำราเกินก็ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุด หรือจะการที่ครูคีตติ้งหวังดี ให้เด็กเดินตามความฝัน ก็ยังอุตส่าห์กลายมาเป็นผลสรุปที่น่าเศร้าเสียอีก… ตรงนี้แหละครับ ที่จุดกลาง หรือทางสายกลางที่ผมเกริ่นไว้ เหมาะจะเอามาใช้งานอย่างยิ่ง

คงต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจทีละส่่วนครับ ว่าการศึกษาตามตำราใช่ว่าจะไม่ดี เพราะหนังสือหนังหาถือว่าเป็นขุมความรู้ที่มหาศาล มันสะสมความรู้ความคิดอ่านของผู้คนหลายยุคสมัย การศึกษาผ่านสิ่งที่คนรุ่นเก่าค้นพบได้ย่อมเป็นทางหนึ่งที่จะทำให้เรารู้อะไรกว้างขึ้น อีกทั้งคนมากมายจุดประกายสร้างสิ่งใหม่ๆ ได้ก็จากการประยุกต์ความรู้เก่าๆ เอาเป็นรากฐานนี่แหละ แต่ปัญหาคือการ “ยึด” ตำราต่างหากที่ต้องใคร่ครวญให้ดี

การจำกัดว่าความรู้ที่นักเรียนควรรู้นั้น อยู่แค่ในตำราเท่านั้น ไม่ยอมเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ไปหาความรู้ทางอื่น เช่น ความรู้จากประสบการณ์ชีวิต แบบนั้นก็เท่ากับเป็นการปิดกั้นความฝันและความก้าวหน้า รวมไปถึงปิดทางพัฒนาทักษะความรู้และจินตนาการของเด็กอย่างน่าเสียดายครับ เพราะเรื่องในตำราควรรู้ก็จริง แต่เรื่องโลกภายนอกก็ไม่ควรละเลยเช่นกัน

มันจะมีประโยชน์อะไรหากเด็กคิดเลขได้ คำนวณค่าสถิติได้อย่างแม่นยำ แต่กลับไม่รู้ว่ายามที่ผิดหวังหรือพบปัญหา ควรทำเช่นไร

เราจึงให้นักเรียน (หรือแม้แต่ตัวเราเอง) ควรรู้เรื่องนอกห้องเรียนประกอบกันไปกับวิชาในตำรา ซึ่งแนวทางที่ครูคีตติ้งบอกก็ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อม เรียนจากอดีต และที่ขาดไม่ได้คือต้องทำความเข้าใจตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย ว่าตัวเองต้องการอะไรในชีวิต รู้ให้ได้ว่าอะไรคือตัวเราที่เราอยากเป็นในอนาคตข้างหน้า

แต่ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่าระบบการเรียนรู้แบบยึดตำราเป็นสรณะมันฝังรากมานาน ครั้นจะไปเปลี่ยนปุบปับเป็นแบบให้เด็กเรียนรู้เองโดยที่เด็กก็ไม่ได้รับการชี้นำ (ที่เป็นกลาง ไร้อคติ) จากผู้ใหญ่ เด็กก็อาจเป็นเหมือนเรือใบไม้ลำน้อยที่ลอยกลางแม่น้ำใหญ่ ล่องๆ ไปอาจล่มกลางทางได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้ผู้ใหญ่ประคับประคองอยู่ห่างๆ ด้วยเช่นกันครับ

ดังนั้นการเรียนทั้งในห้องและนอกห้องจึงจำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ควรรู้ให้รอบ แต่เคล็ดสำคัญคือ เราควรเรียนรู้อย่างสบายใจ “เรียนให้เกิดความอยากเรียน” ไม่ซีเรียสเครียดหรือยึดติดกับมัน

ผมเคยลองถามพวกเรียนดีมีตัว A ติดหน้าผากว่าทำยังไงถึงเรียนดี เกรดงาม ผมก็นึกว่าเขาจะตอบว่า “ก็อ่านหนังสือ ตั้งใจเรียน ตั้งใจฟังสิ” แต่รู้ไหมครับเขาบอกว่าอะไร… “ทำตัวยังไงก็ได้ ให้ยังเป็นคนน่ะ แค่นั้นก็พอแล้ว”

ผมก็งง พาลคิดว่านี่เราทำตัวเป็นกั้งอยู่หรือเปล่าหว่า จนเพื่อนเกรด A อธิบายเพิ่มว่า ทำตัวให้เป็นคนหมายถึง อ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็พัก อยากดูหนังก็ดู อยากไปเที่ยวก็ไป ทำอะไรแล้วสบายใจ ไม่เดือดร้อนตัวเราและผู้ใดก็ทำไป ทำตัวให้พอดี ให้ปกติ และใช้ชีวิตอย่างมีสติ รวมไปถึงรู้จักบริหารส่วนต่างๆ ของชีวิตให้สมดุลด้วย

ดังนั้นหากเราอยากเดินตามฝัน จงทำมันอย่างพอดีครับ หมายถึงทำให้เต็มที่ แต่หากเราทำแล้ว พบว่าเราทำไม่ไหว ก็ต้องพิจารณาให้ดีๆ ครับ ว่าเรานั้นเหมาะกับสิ่งที่เราฝันจริงหรือเปล่า หากไม่ค่อยจะเหมาะ เราก็ควรปรับเปลี่ยนสิ่งที่ฝันให้เหมาะกับตัวเรามากกว่าที่เป็น…

บางครั้งหากเราอยากนำตัวเองใส่ลงไปในกล่องแห่งความสำเร็จ เราก็อาจต้องปรับขนาดตัวให้่เหมาะกับกล่อง หรือไม่ก็ควรหากล่องใหม่ที่เหมาะสำหรับตัวเราเอง

อย่าเดินตามความฝันแบบตามใจฉัน และอย่าปล่อยให้แรงบันดาลใจผลักดันคุณ จนกลายเป็นความดันทุรังนะครับ จงกรองพลังแห่งแรงบันดาลใจทั้งหลายที่คุณได้รับมา ให้อยู่ในระดับพอดีพอเหมาะ มันจะได้ไม่กลายเป็นพิษในภายหลังครับ

หรือถ้าเรามีฝัน และตั้งใจเดินตามเส้นทางนั้น แต่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย แบบนี้ควรทำเช่นไร… แน่นอนครับว่าการตัดสินใจแบบนีล ย่อมไม่ใช่ทางที่ผม และคนทำหนังเรื่องนี้ อยากให้คุณเลือก เพราะเขาทำออกมาเตือนใจ ชวนให้คิดครับ ให้ทั้งพ่อแม่และลูกได้คิด

สิ่งที่ควรทำก็คือ เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำตามฝันได้ และมันก็เลี้ยงตัวเราได้ ให้พ่อแม่ท่านมั่นใจหายห่วง… แบบที่ผมร่ายไว้ในรีวิว Billy Elliot ไงล่ะครับ

Dead Poets Society จึงเป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจ ที่ชี้ชวนให้เรารู้เท่าทันถึง “พลังแห่งแรงบันดาลใจ” ว่าเราควรบริหารจัดการมันให้พอเหมาะ อย่าปล่อยมันออกฤทธิ์รุนแรงจนเกินขนาด จนทำให้เราดันทุรัง เดินตามฝันแบบขาดสติไม่คิดหน้าคิดหลัง

แต่ขณะเดียวกันหากรู้ว่าเรานั้นพร่องแรงบันดาลใจ อยู่ไปวันๆ อย่างไร้ทิศทาง ก็ควรหามันมาเสริมเป็นดั่งวิตามินชีวิต ให้เราเกิดมาหนึ่งชาติแบบไม่พลาดความสนุก เพราะเมื่อคุณเดินไปถึงฝั่งฝันได้ คุณจะได้รับความรู้สึกสุขแบบที่ยากจะบรรยาย

หนังเรื่องนี้ มีดีหลายชั้นจริงๆ แฮะ… เร้าให้ตามฝัน และหมั่นเติมพลังสติ