ค้นหาหนัง

Capote คาโพที

Capote คาโพที
เรื่องย่อ : Capote คาโพที

คาโพที (Capote) เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติ ที่นำเสนอชีวิตของทรูแมน คาโพตี (นำแสดงโดยฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน) กำกับโดยเบนเนต มิลเลอร์ เนื้อหาของเรื่องพูดถึงช่วงที่ทรูแมน คาโพที กำลังหาข้อมูลสำหรับงานเขียนชิ้นหนึ่ง ซึ่งภายหลังจะกลายเป็นงานชิ้นสำคัญ เรื่อง In Cold Blood (1965) ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำเพียง 36 วัน

IMDB : tt0379725

คะแนน : 10



คาโพที ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์รวม 5 สาขา คือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม, และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม

เป็นหนึ่งในห้าของหนังที่เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ครั้งที่ผ่านมา และส่วนตัวแล้ว – ผมชอบหนังเรื่องนี้มากที่สุดหนังมีสัดส่วนของความเป็นดราม่าในระดับที่พอดีๆ ไม่เรียกร้องความอดทนจากคนดูมากเกินไป ในขณะเดียวกันก็เร้าอารมณ์อย่างถูกจังหวะจะโคน งานสร้างโดยรวมประณีตและพิถีพิถัน แน่นอนที่สุด การแสดงของนักแสดงทุกคนในเรื่อง ช่วยกันโอบอุ้มประคับประคองหนังได้เป็นอย่างดี

พูดง่ายๆ คือเป็นหนังที่ดูสนุก พอๆ กับที่คุณภาพการสร้างสรรค์ก็ไม่ได้อ่อนด้อยง่อยเปลี้ย ส่วนสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ หนังตั้งอกตั้งใจสำรวจพฤติกรรมตัวละคร แล้วนำมาแจกแจงได้ค่อนข้างครบถ้วน ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้คนดูรู้สึกว่า ทุกคนในเรื่องมีเลือดเนื้อและหัวใจแล้ว ยังสร้างความผูกพันระหว่างคนดูกับตัวละครได้ตั้งแต่ต้นจนจบ

Capote ดัดแปลงมาจากหนังสือ Capote: A Biography ของ เจอรัลด์ คลาร์ก แต่หนังก็ไม่ได้เล่าถึงชีวิตของทรูแมน คาโพตี – นักเขียนชื่อดังของอเมริกา – ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งลาโลกนี้ไป ทว่าจับช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียง 4-5 ปีของชีวิตการทำงานเท่านั้น อย่างไรก็ดี มันเป็น 4-5 ปีของการแสดงถึงตัวตนทั้งหมดของคาโพตีแบบเพียงพอแล้ว โดยไม่จำเป็นต้องเล่าย้อนไปว่าในวัยเด็กเขาเป็นคนเช่นไร และในบั้นปลายต้องเจอกับอะไรบ้าง

ช่วงชีวิตที่หนังเลือกมาเล่า เป็นตอนที่ทรูแมน คาโพตี ประสบความสำเร็จแล้วในฐานะนักเขียน เขามีงานอย่าง The Grass Harp, Breakfast at Tiffany’s เป็นคอลัมนิสต์ชื่อดังของเดอะ นิวยอร์กเกอร์ อยู่ในสังคมชั้นสูง เป็นที่นับหน้าถือตา เพียบพร้อมทั้งชื่อเสียงและความสามารถ

คาโพตีกำลังตระเตรียมการสำหรับหนังสือเล่มใหม่ของเขา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวสั้นๆ เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมยกบ้านที่เกิดขึ้นในแคนซัส แรกทีเดียวคาโพตียังไม่แน่ใจว่าจะจับประเด็นไหนมาเล่นดี ข้อมูลของคดียังมีไม่มาก แต่สิ่งที่กระทบใจเขาเกิดจากความแปลกใจที่เหตุใด เมืองที่ดูสงบเงียบและไม่น่ามีอะไรร้ายๆ กลับต้องพบเจอกับเรื่องทำนองนี้

สิ่งที่เกิดขึ้น ณ บ้านของตระกูลคลัตเตอร์ เมืองฮอลโคมบ์ค่อนข้างสะเทือนขวัญ ครอบครัวคลัตเตอร์อันประกอบไปด้วยพ่อ แม่ ลูกสาววัยรุ่นอีก 1 คน และลูกชายคนเล็กอีก 1 คน ถูกฆ่าตายบนเตียงนอนของตัวเอง มือถูกมัดไพล่หลัง ใบหน้าเละเพราะถูกปืนลูกซองกระหน่ำเข้าไป

ความสงสัยในเบื้องต้น กล่าวสำหรับตัวคาโพตีเองคือ เหตุใดฆาตกรจึงให้เหยื่อนอนหนุนหมอน บนเตียงนอนของตนเองอย่างดี นั่นหมายถึงฆาตกรพยายามให้เหยื่อนอนหลับก่อนแล้วปลิดชีพ เพื่อไม่ต้องการให้รับรู้ถึงความเจ็บปวดหรือเปล่า?

การเดินหน้าหาข้อมูลของเขาและเพื่อนสนิท - ฮาร์เปอร์ ลี (นักเขียนเจ้าของนิยาย To Kill a Mockingbird) ทำอย่างเยือกเย็นค่อยเป็นค่อยไป คาโพตีไปหานายตำรวจเจ้าของคดี ไปคุยกับเพื่อนของครอบครัวคลัตเตอร์ที่เจอศพเป็นคนแรก แต่ทั้งหมดนั่นก็ไม่เกิดผลเท่ากับการได้สนทนากับตัวฆาตกรโดยตรง ซึ่งถูกตำรวจรวบตัวได้ในเวลาต่อมา

คาโพตีแสดงความสนใจในตัว แพร์รี สมิธ หนึ่งในสองผู้ต้องหาออกมาอย่างเห็นได้ชัด แต่การแสดงอันยอดเยี่ยมของฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน กลับไม่ได้บอกคนดูอย่างตรงไปตรงมาว่าเพราะอะไรคาโพตีจึงรู้สึกเข้าถึงสมิธขึ้นมา เขาบอกกับคนอื่นๆ ไปแค่ว่า “ผมและเขาเป็นคนแบบเดียวกัน”

สิ่งที่อยู่ในใจของคาโพตีถูกเฉลยออกมาจากคำพูดของแจ็ก ดันฟี เมื่อตอนที่คาโพตีบอกว่าจะหาทนายมือดีมาช่วยสมิธยื่นอุทธรณ์ แจ็คบอกว่า “คุณไม่ได้ทำเพื่อเขาหรอก ผมรู้ คุณทำเพื่อตัวเองต่างหาก”

จากที่เคยคิดว่า คาโพตียังไม่แน่ชัดถึงเป้าหมายในตอนแรก มุมมองของคนดูก็เปลี่ยนไปทันที ความจริงแล้วคาโพตีชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เขาเห็นข่าวว่าต้องการจะเขียนหนังสือด้วยกลวิธีใหม่ เป็นแบบที่เขาเรียกมันว่า Nonfiction Novel หรือนิยายที่เขียนมาจากเรื่องจริง ซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่แพร่หลาย

การเขียนนิยายแบบนี้ต้องอาศัยการล้วงลึกข้อมูลอย่างถึงที่สุด เพราะไม่เพียงแต่ผู้เขียนจะต้องอิงจากเหตุการณ์จริงเท่านั้น แต่ต้องถึงกับต้องไปนั่งในจิตใจของตัวละครต่างๆ ราวกับตนเองเป็นพระเจ้าผู้หยั่งรู้ทุกสิ่ง คาโพตีช่วยสมิธเรื่องอุทธรณ์เพราะต้องการเวลา มากกว่าอะไรทั้งหมด

การให้ได้มาซึ่งข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ทรูแมน คาโพตี ทำทุกอย่างเพื่อให้เข้าใกล้และตักตวงความไว้วางใจจากสมิธ คนดูอาจเคยเห็นการหาข้อมูลของคาโพตีแบบ “ยอมทุ่มทุกอย่าง” มาแล้วกับคนอื่นๆ แต่กับสมิธนั้น มันเข้าข่ายใจจืดใจดำ และหลอกใช้กันอย่างเห็นได้ชัด

ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วที่หนังพยายามเผยให้เห็นนิสัยของคาโพตี เขามักทำตัวเป็นศูนย์กลางของวงสนทนาเสมอๆ เล่าโจ๊กขำๆ แบบหน้าตาย ที่เจ็บแสบที่สุด เห็นจะเป็นตอนที่ฮาร์เปอร์ ลี จับได้ว่า เขาถึงกับจ้างพนักงานรถไฟมายกย่องงานเขียนของตัวเอง เพื่อแสดงให้อีกฝ่ายเห็นถึงความสามารถของตนเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังยังยุติธรรมมากพอกับตัวคาโพตีที่บอกว่า ระหว่างเขากับสมิธ ไม่ได้มีเฉพาะส่วนได้ส่วนเสียในแง่ผลประโยชน์อย่างเดียว แต่การพูดคุยที่ค่อยๆ ถลำลึกนั้น ก็ชวนให้นักเขียนหนุ่มเกิดอาการเห็นอกเห็นใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประโยคหนึ่งที่คาโพตีบอกกับฮาร์เปอร์ ลี และมันแทนความหมายทั้งหมดของความสัมพันธ์ก็คือ “มันเหมือนกับว่าฉันกับสมิธโตมาในบ้านหลังเดียวกัน เพียงแต่เขาเลือกที่จะออกมาทางประตูหลังบ้าน ส่วนฉันออกมาทางหน้าบ้าน”

ช่วงท้ายเรื่องเป็นการขมวดปมได้อย่างรุนแรงหนักแน่น คาโพตีเขียนนิยายใกล้จะจบแล้ว เหลือแต่เพียงตอนสุดท้ายเท่านั้น เขาไม่กล้าพอที่จะบอกกับสมิธในเรื่องนี้ เพราะสัญญาไว้กับอีกฝ่ายว่า งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อแก้ต่างตัวสมิธต่อสังคม (ทั้งๆ ที่ความจริงนั้นตรงข้าม - เขาตั้งชื่อหนังสือว่า In Cold Blood หรือ ไอ้ฆาตกรเลือดเย็น)

สมิธพยายามอุทธรณ์ต่อโทษประหารครั้งสุดท้าย ในใจของคาโพตีส่วนหนึ่งต้องการให้การอุทธรณ์ล้มเหลว (เพื่อสมิธจะได้ตายไป และหนังสือเขาจะได้จบ) แต่อีกใจหนึ่ง ความผูกพันที่มีมา ก็รู้สึกทำใจไม่ได้ที่จะสูญเสียเขาไป

แต่อย่างที่ทราบกันว่าท้ายที่สุดแล้วสมิธก็หนีไม่พ้นโทษ และคาโพตีก็เขียน In Cold Blood ได้จบ มันกลายเป็นงานที่โด่งดังที่สุดของเขา หลังจากนั้นคาโพตีก็เขียนหนังสืออีกหลายเล่ม แต่ก็ไม่เคยสำเร็จอีกเลย

ผมดู Capote จบด้วยความหดหู่และเจ็บปวด หนังบอกให้รู้ว่าบางทีคนเราก็ทำเรื่องร้ายๆ ด้วยสติสัมปชัญญะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมีอยู่ครบถ้วน ซึ่งทันทีที่ได้ล้วงมือเข้าไปในบ่อของการทำบาปแล้ว มันก็จะติดตัวไปตลอดชีวิต

ในกรณีของแพร์รี สมิธ อาจจะยังไม่ชัดเท่าไหร่ แต่สำหรับทรูแทน คาโพตี – เขาไม่เคยล้างบาปนั้นออกจากใจไปได้เลยจนกระทั่งวันตาย