IMDB : tt0450259
คะแนน : 10
เพชรที่ถูกขุดค้นพบในรอบ 50 ปีนี้ มีชื่อว่า “เพชรแห่งสันติภาพ” ซึ่งว่ากันว่าใหญ่ที่สุดในโลกเม็ดนี้ ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึง “เพชรสีเลือด” เม็ดนั้นในภาพยนตร์ Blood Diamond (2006) ของผู้กำกับเอ็ดเวิร์ด ซวิก ขึ้นมาอีกครั้ง
และเชื่อมไปถึง The Constant Gardener (2005) ของเฟอร์นานโด เมอร์เรเลส ซึ่งหนังทั้งสองเรื่องพูดถึงการค้าเพชรและการค้ายาที่เกิดขึ้นในประเทศโลกที่สามเหมือนกัน
ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านทบทวนถึงที่มาของ “เพชรสีเลือด” กันอีกสักครั้ง พร้อมกับย้อนรอยเส้นทางการกำกับของ “เอ็ดเวิร์ด ซวิก” ในภาพจำของผู้เขียนไปพร้อมๆ กัน
ครั้งแรกจากหนังน่ารักๆ ในปี 1986 อย่าง About Last Night ซึ่งสมัยนั้นเดมี่ มัวร์ ยังไว้ผมฟูฟ่อง แต่ก็สวยและน่ารักสุดๆ
ถัดจากนั้นชื่อเสียงของซวิกกลับมาอีกครั้ง เมื่อผู้เขียนเช่าม้วนวิดีโอ “ตำนานสุภาพบุรุษหัวใจชาติผยอง” หรือในชื่อภาษาอังกฤษ Legends of the Fall (1994) มานั่งร้องห่มร้องไห้น้ำตาไหลพรากให้กับฉากที่ “แบรด พิตต์” สูญเสียน้องชายสุดที่รักไปในสงคราม
หรือในหนังสงครามอ่าว (Gulf War) อีกเรื่องอย่าง Courage Under Fire (1996) ที่มีแดนเซล วอชิงตัน ทำหน้านิ่วคิ้วขมวดตลอดศกประกบเจ้าแม่หนังรักอย่างเม็ก ไรอัน ที่พลิกบทบาทมาเป็นเข้มขรึมไม่แพ้กัน
ก็ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่ทำให้เห็นว่าซวิกเริ่มชัดเจนในเส้นทางของตัวเอง จนกระทั่งหนังเรื่อง The Last Samurai (2003) ที่ทำออกมาราวกับนั่งดู Seven Samurai ของอากิระ คุโรซาวา ยิ่งช่วยตอกย้ำตัวตนของเขามากขึ้น
และเมื่อซวิกมาจับหนังอย่าง Blood Diamond จึงเชื่อมือได้ว่าหนังเรื่องนี้จะต้องเข้มข้นทบทวี (คงไม่ต้องพูดถึงลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ ที่ในช่วงนั้นก็เลือกเล่นหนังที่เข้มข้นขึ้นไม่แพ้กัน)
การย้อนรอยดูผลงานที่ผ่านมาของผู้กำกับท่านนี้ จึงประมวลได้อย่างคร่าวๆ ว่า ซวิกน่าจะเป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์ วรรณกรรม การเมือง รวมทั้งสงคราม และศึกษามันอย่างจริงจัง ลงลึกในรายละเอียดถึงรากเหง้าของวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม
สารภาพว่าขณะนั่งดู The Last Samurai ผู้เขียนได้เห็นวิถีความเป็นอยู่แบบซามูไร เห็นแก่นแท้เล็กๆ ของความเรียบง่าย (อย่างพิธีชงชา) ในชนบทจนแทบจะลืมสงครามบ้าบิ่นหรือวิถีแห่งนักรบ (บูชิโด) ในหนังไปเลย
ย้อนกลับไปช่วงหนึ่งของสงครามใน Legends of The Fall สามพี่น้องออกไปสู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่ในสมรภูมิรบเพื่อประเทศบ้านเกิดโดยไม่ฟังคำคัดค้านจากผู้เป็นพ่อที่เคยผ่านสนามรบมาก่อน
ทั้งที่จริงสิ่งเหล่านี้ได้บอกเล่าผ่านหน้าประวัติศาสตร์หรืออนุสรณ์สถานหมดแล้วโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าไปปะทะเข่นฆ่ากัน
แต่ผลพวงที่สืบทอดต่อเนื่องกันมายาวนานหลายทศวรรษกลับปฏิวัติให้เราวิ่งเข้าห้ำหั่นกันและเชื่อว่ามันคือทางออกเดียวที่ดีที่สุด!
การกวาดฆ่าล้างกันนับร้อยหมื่นศพจึงถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเพียงเพราะความต้องการครอบครองของคนเพียงกลุ่มเดียว
(ลองนึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์หายนะอันยิ่งใหญ่ที่เยอรมันทำไว้กับชาวยิวในยุโรปซึ่งคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปมากกว่า 6 ล้านชีวิต หรือสงครามกลางเมืองในเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาที่มีผู้เสียชีวิตนับล้านดูก็ได้)
ประเด็นใน Blood Diamond ซึ่งเคยเป็นข่าวครึกโครมในประเทศเซียร์ราลีโอนในช่วงปี 1991-2002 ต้นเหตุของสงครามกลางเมืองในเซียร์ราลีโอนา คือฉนวนสำคัญและกลายเป็นความร้อนระอุในเวลาต่อมา ซึ่งนำมาถึงสิ่งที่ทุกคนอยากได้ แย่งชิงตามล่ากันอย่างเอาเป็นเอาตายคือ “เพชรสีชมพู” เม็ดงาม หรือ “เพชรสีเลือด” เพื่อขายส่งออกตลาดต่างประเทศในราคาที่สูงลิบ
ภาพที่เราเห็น สภาพบ้านเมืองจึงไม่ต่างไปจากขุมนรก ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายปฏิวัติที่เข่นฆ่ากันอย่างไร้ความเมตตาปรานี (หลายฉากดูแล้วชวนสะเทือนขวัญเช่น ฉากจับสับแขน เป็นต้น)
เด็กๆ จับปืนกราดยิงใส่ผู้บริสุทธิ์ได้อย่างหน้าตาเฉย หลายหมู่บ้านชุ่มโชกไปด้วยกลิ่นคาวเลือดเลอะเทอะเปรอะเปื้อน สงครามทำให้คนกลายเป็นปีศาจในชั่วพริบตา
หนังแบ่งกลุ่มประเทศร่วมรับผิดชอบให้กับแดนนี่ อาร์เชอร์ (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) นายทหารหนุ่มผู้ปราดเปรื่องทั้งการรุกและรับเป็นตัวแทนชาวแอฟริกาใต้
และให้โซโลมอน แวนดี้ (ไจมอน ฮอนซู) ชาวประมงผู้มีชีวิตครอบครัวราบเรียบจนถูกพรากลูกและภรรยาไปจากชีวิตเป็นตัวแทนชาวเซียร์ราลีโอนา
และตัวกลางประสานงาน แมดดี้ บราวน์ (เจนนิเฟอร์ คอนเนลลี่) นักข่าวสาวผู้พร้อมเสี่ยงภัยเจาะลึกทุกเหตุการณ์เป็นตัวแทนชาวอเมริกา เพื่อเปิดโปงค้นหาต้นตอตัวการสำคัญอย่าง “อังกฤษ” ที่สร้างเครือข่ายตลาดค้าเพชรออกไปทั่วโลก
Blood Diamond เผยให้เห็นด้านมืดหลายอย่างของธุรกิจการซักฟอกเพชรส่งผ่านการเข้าออกระหว่างประเทศ คาบเกี่ยวผลประโยชน์ภายในทางการเมืองสลับซับซ้อนยากเกินกว่าที่คนภายนอกอย่างเราจะล่วงรู้หรือที่เรียกกันอย่างลับๆ ว่า “ด้านมืด” นั่นเอง
ด้านมืดของการค้าเพชรใน Blood Diamond กับด้านมืดของการค้ายา (และการให้คนเป็นหนูทดลองยา) ใน The Constant Gardener จึงให้รายละเอียดที่ร้อยเรียงสอดคล้องกันอย่างเห็นภาพ
ตัวละครอย่าง เทสซา (ราเชล ไวสซ์) นักอนุรักษนิยมหัวรุนแรงจึงพร้อมวิ่งเข้าใส่ด้านมืดนั้นอย่างไม่กลัวตาย
ส่วนแมดดี้อาจเป็นนักข่าวที่ชำนาญเกมการเมืองมากกว่า จึงคิดหาหนทางเปิดโปงด้านมืดอย่างชาญฉลาดและชิงไหวชิงพริบได้ดีกว่า
ซึ่งนอกจากการได้ทำหน้าที่ครั้งสำคัญที่เปิดโปงการฉ้อฉลภายในรัฐบาลระดับประเทศแล้ว สิ่งหนึ่งที่ตัวละครทั้งสองเรื่องเห็นพ้องต้องกัน (เหมือนข้ามเรื่องมาจับมือกัน) คือการได้ช่วยเหลือชาวแอฟริกันที่เหลือรอดจากการถูกเข่นฆ่าทารุณกรรมทั้งหลายให้รอดพ้นจากประเทศมหาอำนาจที่เข้ามารุกรานได้สำเร็จ
เพชรสีเลือดในครั้งนั้นจึงเป็นอุทาหรณ์จากการลักลอบขุดอย่างผิดกฎหมาย คือทุกหยาดหยดเลือดที่ไหลซ่านเซ็นของผู้บริสุทธิ์ในแอฟริกาที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วมากมายไม่รู้เท่าไหร่ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเพชรเม็ดงามที่เจียระไoแล้วนำมาประดับเรือนคออันงามระหงหรือเป็นแหวนเพชรแต่งงานวงโตสวมนิ้วสักวงหนึ่ง
แต่ทว่ากี่ชีวิตที่ดับดิ้นอยู่ในแดนดินอันห่างไกลโดยผู้คนในประเทศที่เจริญแล้วไม่มีวันล่วงรู้ หรือรู้แต่แสร้งทำขยิบตาทำมองไม่เห็น และยังคงเหยียบย่ำเหยียดผิวใช้แรงงานคนตัวเล็กตัวน้อยไม่ต่างจากทาสในอดีตที่ยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน
ซึ่งในโลกภาพยนตร์นั้นจบไปนานแล้ว แต่ในโลกความจริง ด้านมืดเหล่านั้นอาจยังดำรงซุกซ่อนตัวอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรืออาจยังคงอยู่ตรงที่เดิม
งานมหากาพย์ในครั้งนั้นของเอ็ดเวิร์ด ซวิก จึงชวนให้เราขบคิดต่อทันทีเมื่อหนังจบลงและมองย้อนกลับไปถึงการประมูล “เพชรแห่งสันติภาพ” เมื่อปลายปี 2017 ที่ว่าจะนำรายได้ครึ่งหนึ่งไปพัฒนาในโครงการต่างๆ ทั้งการสร้างถนน ไฟฟ้า ประปา โรงเรียนและโรงพยาบาลต่อไป
“ทั้งนี้ ทางการเซียร์ราลีโอนให้คำมั่นว่าการขายเพชรนี้จะต้องมีความโปร่งใส โดยจะคำนึงถึงประวัติศาสตร์การค้าเพชรซึ่งครั้งหนึ่งเคยทำให้เซียร์ราลีโอนต้องเผชิญสงครามกลางเมืองมาแล้ว”
ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สันติภาพเกิดขึ้นแล้วจริง คงจะดีไม่น้อย…
เพราะถึงตอนนี้เอ็ดเวิร์ด ซวิก คงไม่ย้อนกลับไปหาด้านมืดในหนังสงครามกลางเมืองเยี่ยงนั้นอีกในเร็ววัน
ล่าสุดก่อนลาไปกำกับหนังทีวี ซวิกเพิ่งกำกับเกมการแข่งขันหมากรุกใน Pawn Sacrifice (2014) ที่เครียดขึงไม่แพ้สงครามประหัตประหารชีวิตกัน
จากนั้นจึงหันมาจับมือกับเพื่อนเก่าอย่างทอม ครูซ ในหนังภาคต่อของ Jack Reacher : Never Go Back (2016) ที่คงกำกับฯ ฉากยิงกันสนั่นท่วมจอและปลดปล่อยอารมณ์ได้มากกว่าการเผยแผ่ความจริงอันบีบคั้นหัวใจ
เหมือนเมื่อครั้งหนึ่งที่เขาเคยทำให้คนดูเดินออกจากโรงภาพยนตร์หายใจไม่ทั่วท้องกันมาแล้ว