ค้นหาหนัง

Aśoka | อโศกมหาราช

Aśoka | อโศกมหาราช
เรื่องย่อ : Aśoka | อโศกมหาราช

อโศกมหาราช มหากาพย์ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องจากเสี้ยวหนึ่งในพระชนม์ชีพของมหาจักรพรรดิอโศก หลานชายของพระเจ้าจันทรคุปต์ มรญา ผู้ครองบัลลังก์แคว้นมคธเมื่อ 300 ปีก่อนคริสต์ศักราช เพื่อขยายราชอาณาจักร พระเจ้าอโศกทรงก่อสงครามนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเข้าตีคลิงกะ แคว้นเพื่อนบ้านจนพินาศย่อยยับ หลังจากได้รับชัยชนะบนกองซากอศุภนับแสน พระเจ้าอโศกทรงสำนึกเสียพระทัย จนตั้งประปณิธานว่าจะยุติการเดินทางบนเส้นทางแห่งสงคราม หันมาทุ่มเทให้กับการทำนุบำรุงและเผยแพร่ศาสนาพุทธให้ขจรไกล อโศกมหาราช คือตำนานแห่งการเดินทางของราชบุตรวัยเยาว์สู่การเป็นนักรัก จากบุรุษผู้ขมขื่นจากการทรยศหักหลังของญาติพี่น้อง ไปสู่การเป็นนักรบผู้เหี้ยมโหดเพราะความทะยานอยาก จ

IMDB : tt0249371

คะแนน : 10



เอ่ยถึงหนังอินเดีย หลายคนอาจนึกถึงความเชยไม่น้อยไปกว่าหนังไทยสมัยก่อน ที่มักจะมีดาราสาวออกมาเต้นวิ่งไล่กันตามเสาหรือตามต้นไม้ หรือดาราบางคนเปล่งเสียง "นาร้าย...นารายณ์" และเนื้อเรื่องที่สุดแสนเศร้าดูแล้วร้องไห้ร้องห่มเป็นเผาเต่า ฯลฯ

เมื่อเว็บไซต์แห่งนี้ต้องการเปิดกว้างไปยัง ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ทุกชาติทุกภาษาทุกยุคทุกสมัย จะไม่นำภาพยนตร์อินเดียมากล่าวสักเรื่องคงไม่ได้ ในเมื่อภาพยนตร์เรื่องที่นำมากล่าวถึงนี้ เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หรือจักรพรรดิ์ชาวพุทธผู้ยิ่งใหญ่ ที่พระนามของพระองค์นั้นจารึกใน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนา มีความสำคัญถัดมาจากพระพุทธเจ้าและบรรดาพระสาวกทั้งหลาย คือ เรื่อง Asoka อันเกี่ยวข้องกับ พระเจ้าอโศกมหาราช (Asoka หรือ Ashoka) ผู้ทรงนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเผยแผ่ไปยังนอกชมพูทวีป หรือบริเวณอินเดียปัจจุบัน ไปยังอาณาเขตต่างๆ กว้างใหญ่ไพศาล รวมถึงสุวรรณภูมิ หรือประเทศไทยในปัจจุบันนี้ด้วย

เริ่มเรื่องขึ้นเมื่อ พระเจ้าจันทรคุปต์ จักรพรรดิ์แห่งแคว้นมคธ พระอัยกาหรือปู่ของเจ้าชายอโศก(ในบทพากย์ภาษาไทยใช้คำว่า "ราชกุมาร" และ "ราชกุมารี" แทน Prince และ Princess แต่ผมสะดวกที่จะใช้คำว่า "เจ้าชาย" และ "เจ้าหญิง" มากกว่า) ได้ทรงสละราชสมบัติออกผนวชในศาสนาเชน และได้ทิ้งพระแสงดาบที่ทรงเรียกว่า "ดาบอสูร" ลงไปในน้ำตกบริเวณที่ทรงออกผนวชนั้น แต่เจ้าชายอโศกได้ทรงฝ่าฝืนแอบนำดาบนั้นมาเก็บไว้ หลังจากพระเจ้าจันทรคุปต์ออกผนวช ราชสมบัติตกเป็นของพระเจ้าพินทุสาร (Bindusara) พระบิดาของเจ้าชายอโศกได้ครองราชสมบัติ โดยมีพระโอรสต่างมารดาสองพระองค์ที่คาดว่าจะเป็นผู้สืบทอดราชบัลลังก์ คือ เจ้าชายอโศก และเจ้าชายสุชิม (Susima) (ที่จริงยังมีโอรสอีกหลายพระองค์) เรื่องกระโดดข้ามไปยังเวลาที่เจ้าชายอโศกเจริญพระชันษาเป็นหนุ่มและพึ่งเสด็จกลับจากชัยชนะที่เมืองตักกศิลา ซึ่งทำให้เจ้าชายสุชิมทรงพิโรธที่เจ้าชายอโศกรอดกลับมาอย่างมีชื่อเสียง และส่งคนไปลอบปลงพระชนม์ขณะลงสรง แต่ไม่สำเร็จอีก เจ้าชายอโศกเองก็แสดงความมักใหญ่ถึงกับขึ้นประทับนั่งบนบัลลังก์ขณะที่กำลังปะทะคารมกับเจ้าชายสุชิมและพี่น้อง พระเจ้าพินทุสารซึ่งทรงพระประชวรตำหนิพระมารดาของเจ้าชายอโศก พระมารดาจึงโปรดฯ ให้เจ้าชายอโศกเสด็จออกจากแคว้นมคธ โดยไม่ให้เปิดเผยตัวว่าเป็นใคร

จ้าชายอโศกได้เสด็จมายังแคว้นกลิงคะ (Kalinga) ณ ที่นี่ได้ทรงรู้จักกับ เจ้าหญิงกรกี (Kaurwaki) เจ้าชายอารยา (Arya) ซึ่งยังทรงพระเยาว์มาก และขุนพล ภีม (Bheema) ซึ่งกำลังลี้ภัยการเมืองอยู่ รวมถึงได้รู้จักกับวิรัตน์ (Virat) นักเลงโตแถบนั้น(ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าหญิงและเจ้าชายจากแคว้นกลิงคะ) โดยตลอดเวลาทรงอ้างว่าเป็นเพียงทหารคนหนึ่งของแคว้านมคธชื่อ "ปาวัน" (Pawan) ตามชื่อม้าทรงของพระองค์ เจ้าชายอโศกได้ทรงช่วยเหลือเจ้าหญิงและเจ้าชายแคว้นกลิงคะจากอันตราย และแม้จะทราบความจริงว่าเจ้าหญิงเป็นเพียงเด็กกำพร้าชาวประมงที่พระเจ้าแผ่นดินแคว้นกลิงคะเก็บมาทรงเลี้ยง และภีมไม่เห็นด้วยกับความรักของทั้งสอง  แต่ในที่สุดเจ้าชายอโศกกับเจ้าหญิงกรกีก็ลักลอบแต่งงานกันตามพิธีชาวบ้าน ยังไม่ทันที่ทั้งสองจะได้อยู่กินกันก็พอดีมีทหารจากแคว้นมคธมาตามเจ้าชายอโศกให้กลับไปเฝ้าพระมารดาที่ทรงพระประชวร ก่อนไปเจ้าชายอโศกสัญญากับเจ้าหญิงและเจ้าชายกลิงคะว่าจะเสด็จกลับมารับในภายหลัง

เมื่อเสด็จถึงวัง เจ้าชายอโศกพบว่าพระมารดาไม่ได้ทรงพระประชวรดังที่อ้าง และพระเจ้าพินทุสารได้บัญชาให้เจ้าชายอโศกไปปราบกบฎที่เมืองอุชเชนนี เจ้าชายอโศกขอให้กองทัพล่วงหน้าไปก่อน เพื่อเสด็จไปหาเจ้าหญิงกรกี แต่ระหว่างที่เจ้าชายอโศกไม่อยู่นั้น ภีมได้เข้าไปยังเมืองกลิงคะเพื่อแจ้งข่าวว่าเจ้าชายและเจ้าหญิงทั้งสองยังไม่สิ้นพระชนม์ แต่มหาเสนาบดีผู้หวังชิงบัลลังก์กลิงคะได้ส่งคนไปลอบทำร้ายภีมและไปปล้นหมู่บ้านที่ซ่อนตัวของเจ้าหญิงเจ้าชายทั้งสอง ชาวบ้านได้ช่วยให้ทั้งสองพระองค์รอดไปได้โดยให้ผู้อื่นรับเคราะห์แทน แต่เมื่อเจ้าชายอโศกมาถึงพบแต่บ้านที่ถูกไฟเผาและภีมซึ่งไม่ได้บอกความจริง เจ้าชายอโศกจึงเข้าพระทัยผิดและเสียพระทัยมาก เมื่อเสด็จไปรบที่อุชเชนนีทรงได้รับบาดเจ็บ แต่วิรัตน์ที่ตามเสด็จไปรบได้ช่วยชีวิตไว้ และนำพระองค์ไปรักษาที่วัดพุทธศาสนาแห่งหนึ่ง โดยมีหญิงสาวชื่อเทวีคอยดูแลรักษาพระองค์จนในที่สุดได้แต่งงานกัน

เมื่อเจ้าชายอโศกพาพระนางเทวีกลับแคว้นมคธ เจ้าหญิงกรกีได้พยายามตามหา "ปาวัน" แต่คลาดกันโดยตลอด จึงเสด็จตามเจ้าชายอารยาและภีมไปสำเร็จโทษมหาเสนาบดี เจ้าชายอารยาได้ครองราชย์แคว้นกลิงคะทั้งที่ยังทรงพระเยาว์ ด้านพระเจ้าพินทุสารไม่ทรงโปรดสะใภ้ชาวพุทธและโปรดให้เจ้าชายอโศกกลับไปอยู่เมืองอุชเชนนี เมื่อพระนางเทวีทรงพระครรภ์ เจ้าชายสุชิมทรงเกรงว่าหากเจ้าชายอโศกได้พระโอรส จะทำให้ทรงเสียสิทธิในราชบัลลังก์ จึงโปรดให้คนสนิทไปลอบสังหารพระนางเทวี การลอบสังหารแม้จะไม่สำเร็จแต่ได้ทำให้พระมารดาของเจ้าชายอโศกสิ้นพระชนม์ เจ้าชายอโศกทรงพิโรธและนำกำลังทหารไปแก้แค้น (ทั้งในภาพยนตร์และในประวัติศาสตร์ไม่อาจระบุชัดว่าพระเจ้าพินทุสารสิ้นพระชนม์หรือยัง) สุชิมถูกวิรัตน์สังหารขณะลอบทำร้ายเจ้าชายอโศก เจ้าชายอโศกโปรดให้สังหารพระเชษฐาและพระอนุชาทางฝ่ายสุชิมทั้งหมด และได้ราชบัลลังก์ท่ามกลางเสียงครหาของประชาชน และปรากฏว่าสุกัตราพระอนุชาองค์หนึ่งของสุชิมหนีไปได้

พระเจ้าอโศกได้ทรงทำสงครามขยายพระราชอาณาเขตออกไปมากมาย จนเหลือแต่แคว้นกลิงคะ เมื่อทรงทราบว่าสุกัตราหนีไปพึ่งแคว้นนี้ และไม่ยอมส่งสุกัตราให้ สงครามจึงเกิดขึ้น จัดว่าเป็นสงครามครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์อินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นในราว ปี 265-263 ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ พ.ศ.278-280 กองทัพแคว้นมคธกระทำการโหดร้ายต่อชาวบ้านจนเป็นที่หวั่นเกรง ภีมกับสุกัตราพยายามลอบสังหารพระเจ้าอโศกแต่ไม่สำเร็จทั้งสองได้เสียชีวิตลง กองทัพทั้งสองแคว้นจึงต้องรบกันขั้นแตกหัก ณ ที่นี้ เจ้าหญิงกรกีซึ่งทรงร่วมรบด้วยจึงได้ทราบว่า พระเจ้าอโศก ศัตรูผู้โหดเหี้ยม คือ "ปาวัน" คนรักของนางเอง พระเจ้าอโศก ทรงรบชนะกองทัพกลิงคะโดยเด็ดขาด และทราบข่าวจากพระอนุชาว่าพระนางเทวีทรงได้พระโอรสและพระธิดาพร้อมกัน แต่ไม่โปรดให้พระเจ้าอโศกแตะต้องพระโอรสธิดาด้วยพระหัตถ์เปื้อนเลือด พระเจ้าอโศกจึงเริ่มสำนึกและเสด็จกลับไปยังสนามรบ ที่มีแต่ความเสียหาย ซากศพ และคนที่กำลังจะตาย ครั้งนี้ได้ทรงพบกับเจ้าหญิงกรกีที่ทรงบาดเจ็บจากการรบและเจ้าชายอารยาที่ได้รับบาดเจ็บเช่นกันและสิ้นพระชนม์ในอ้อมพระกรของพระเจ้าอโศก ความเสียพระทัยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้พระองค์เลิกใฝ่หาสงครามและหันมาทำนุบำรุงและเผยแพร่พระพุทธศาสนาตลอดพระชนมชีพ

ด้านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แม้ในไตเติ้ลภาพยนตร์จะออกตัวว่าได้มีการแต่งเติมตัวละครขึ้นมาเพื่อความบันเทิง จากการตรวจสอบกับข้อมูลที่วิกิพีเดียคร่าวๆ เนื้อเรื่องส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกันค่อนข้างมาก จะมีปัญหาก็ในเรื่องของเวลา เช่น ช่วงที่เจ้าชายอโศกเสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังชายแดนกลิงคะนั้นกินเวลาราวสองปี และสงครามกับแคว้นกลิงคะนั้นเกิดขึ้นหลังการครองราชย์และแผ่ขยายพระราชอาณาเขตราว 8 ปี  หากเจ้าชายอารยามีพระองค์จริง ถึงเวลานั้นน่าจะเจริญพระชันษาขึ้นเป็นกษัตริย์หนุ่มเต็มพระองค์แล้ว และก่อนจะทำสงครามกัน พระเจ้าอโศกน่าจะทรงทราบพระนามของผู้ครองแคว้นกลิงคะบ้าง เจ้าหญิงกรกีนั้น ในประวัติศาสตร์กล่าวเพียงว่าเป็นชาวประมงชาวแคว้นกลิงคะที่ได้พบกันระหว่างเสด็จลี้ภัยและภายหลังได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอโศก แต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยเกี่ยวข้องกับราชสำนักกลิงคะแต่อย่างใด ส่วนพระนางเทวีนั้น มีพระองค์จริงในประวัติศาสตร์ เป็นผู้รักษาพยาบาลเจ้าชายอโศกตามที่กล่าวในภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์เองกล่าวว่า ในภาพยนตร์ยังให้ความสำคัญกับพระนางน้อยกว่าที่ควรจะเป็น คือไปหนักทางพระนางกรกีแทน ทั้งที่พระนางเทวีเป็นชาวพุทธมาแต่เดิมซึ่งน่าจะมีบทบาทหลักในการเปลี่ยนพระทัยให้พระเจ้าอโศกทรงหันมานับถือพุทธศาสนา และโดยความรู้สึกส่วนตัวผม ก็เห็นว่าภาพยนตร์ไปกล่าวถึงความรักระหว่างพระเจ้าอโศกกับพระนางกรกีจนไม่ได้กล่าวถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเลย น่าเสียดายยิ่งนัก

ด้านการเขียนบทและการดำเนินเรื่องนั้น เป็นตัวอย่างที่น่าศึกษามากสำหรับการแต่งเติมสิ่งที่ทำให้เนื้อเรื่องมีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ได้แก่

"ดาบอสูร" ของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่พระเจ้าอโศกไปเก็บมาใช้เป็นพระแสง ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความโหดร้าย ที่ทรงใช้เกือบตลอดเรื่อง ยกเว้นในช่วงที่ประทับอยู่กับเจ้าหญิงกรกี และในที่สุดเมื่อทรงสำนึกบาปก็ได้ทรงโยนดาบอสูรนี้ทิ้งน้ำเช่นเดียวกับพระอัยกา
นิทานเรื่องเจ้าหญิงกับเจ้าชายที่ "ปาวัน" เล่าให้เจ้าชายอารยาฟังนั้น เจ้าชายอโศกทรงตั้งพระทัยเล่าเพื่อแสดงความรักความผูกพันระหว่างพระองค์กับเจ้าหญิงกรกีและเจ้าชายอารยา ตอนจบของนิทานที่ว่าเจ้าชายนำทัพช้างทัพม้ากลับมารับเจ้าหญิงกลับไปอยู่ด้วยกันนั้น กลับกลายเป็นความจริงที่แสนเศร้าว่าพระเจ้าอโศกได้กรีธาทัพมารุกรานแคว้านกลิงคะอย่างโหดเหี้ยม
คำพูดที่ "ปาวัน" สอนการฟันดาบให้กับเจ้าหญิงกรกี ในตอนแรก ได้หวนกลับมาขณะที่เจ้าหญิงกรกีตั้งพระทัยฝึกดาบอีกครั้งเพื่อต่อสู้กับกองทัพมคธของพระเจ้าอโศกซึ่งเป็นผู้สอนเอง
ม้าทรงของเจ้าชายอโศก หรือ "ปาวันตัวจริง" ซึ่งเจ้าชายอโศกมอบให้เจ้าหญิงกรกีในวันแต่งงาน ได้กลายมาเป็นม้าทรงของเจ้าหญิงกรกีในการรบกับพระเจ้าอโศก และถูกทหารพระเจ้าอโศกยึดได้จนทำให้พระเจ้าอโศกต้องเสด็จกลับไปพบเจ้าหญิงกรกีอีกครั้ง แต่ก็แปลกที่เจ้าหญิงกรกีหรือคนอื่นไม่เคยเอ่ยถามชื่อม้าตัวนี้หรือตั้งชื่อม้าเป็นอย่างอื่นเลย