ค้นหาหนัง

Ashes of Time มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ์

Ashes of Time | มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ
เรื่องย่อ : Ashes of Time มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ์

เป็นเรืองราวของผู้คนที่มาเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน เพราะความรัก ความผิดหวัง ความแค้น และความอ้างว้างเดียวดาย ภาพยนต์ถูกแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ตามแต่ว่าจะเป็นเรืองราวของตัวละครตัวใด เปิดเรื่องมาด้วยการเล่าเรืองจากความคิดคำนึงของ อ้าวเอี้ยงฮง (เลสลี่ จาง) นายหน้าค้าความตาย แห่งทะเลทรายอันอ้างว้าง ทุก ๆ ปี ในเดือนที่ 6 อึ้งเอี้ยซือ (เหลียงเจียฮุย) จะเดินทางมาพบเขาพร้อมด้วยข่าวคราวจากทิศตะวันออกในปีนี้ อึ้งเอี้ยซือ นำสุรา เมามายหรรษา ซึ่งมีฤทธิทำให้ลืมเรืองราวต่าง ๆ มากมาย มาให้อ้าวเอี้ยงฮง แต่อ้าวเอี้ยงฮงไม่เชื่อในเรื่องที่กล่าว จึงไม่ร่วมร่ำสุรากับอึ้งเอี้ยซือ ปล่อยให้อึ้งเอี้ยซือร่ำสุราเดียวดาย และเมามายแต่เพียงผู้เดียวภายหลังจากนั้น เขาก็ได้หลงลืมเรืองราวต่าง ๆ มากมาย ก่อนที่เขาจะจากไปเพื่อพบสหายยังอีกหมู่บ้านหนึ่งในทุก ๆ ครั้ง จนกระทั้งวันหนึ่งเมื่อสหายของเขาออกเดินทางจากบ้านไป เขาก็ไม่เคยกลับไปเหยียบที่หมู่บ้านนั้นอีกเลย

IMDB : tt0109688

คะแนน : 10



จากเนื้อหาในหนังหลาย ๆ เรื่องของเขาที่มักไล่ล่าไขว่คว้าความรัก อ้างว้างทุรนทุราย  ยิ่งเห็นได้ชัดจากเรื่อง Fallen Angels (1995) ที่หญิงสาวยินดีส่งชายที่เธอรักไปตาย ยังดีซะกว่าปล่อยให้หญิงอื่นคว้าไปครอง ทำให้ดิฉันรู้สึกว่าคุณหว่องกาไว (Wong Karwai) ผู้กำกับระบือนามน่าจะเป็นแฟนนวนิยายกำลังภายในของ *โกวเล้ง*

แต่..ช้าก่อน

ก่อนหน้านั้นหว่องกาไวทำ Ashes of Time (1994) ใช้ชื่อตัวละครหลัก ๆ มาจากมังกรหยก(หรือจะจอมยุทธ์ยิงอินทรีก็ตามแต่ ภายใต้ชื่อภาษาอังกฤษ Eagle Shooting Heroes หรือภาษาจีนกลาง Shediao yingxiong zhuan) ซึ่งเป็นอภิมหานิยายของ *กิมย้ง* (หรือ จินหยง) และเป็นหนังจีนกำลังภายในเรื่องเดียวที่หว่องกาไวกำกับเสียด้วย

อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามว่าหนังเรื่องนี้เป็นควันหลงจากยุคทองหนังกำลังภายในของฮ่องกง ดิฉันกลับคิดเล่น ๆ ว่านี่อาจจะเป็นหนังที่ช่วยสนับสนุนสมมติฐานของดิฉันเองว่าแกเป็นแฟนโกวเล้งก็ได้ เพราะหว่องกาไวแกอาจจะรู้สึกขัดใจก็เลยเปลี่ยนเรื่องเสียใหม่ แทนที่จะมีกลยุทธ์ลูกล่อลูกชนเด็ดพรายสนุกสนานเคล้าประวัติศาสตร์และการเมืองตามสไตล์กิมย้ง แต่กลับกลายเป็นบรรยากาศอ้างว้าง โศกระทม ไม่สมหวังในความรัก คลุกเคล้าไปกับความแค้น และมิตรภาพที่ขัดแย้ง...ซึ่งแน่นอนว่า เป็นอารมณ์ในแบบโกวเล้งเสียมากกว่า!

นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้น่าจะสร้างสถิติรวมซุปเปอร์สตาร์ฮ่องกงมากที่สุดในประวัติศาสตร์หนังของหว่องกาไวก็ว่าได้ ตั้งแต่เหลียงเจียฮุย/Tony Leung Ka Fai ผู้รับบทอึ้งเอี๊ยะซือ, เลสลี่จาง เป็น อาวเอี้ยงฮง,  จางเซียะโหย่ว/Jacky Cheung เป็นอั้งชิก, เหลียงเฉาเหว่ย/Tony Leung Chiu Wai รับบทหนุ่มนักฆ่าที่กำลังจะตาบอด, หลินชิงเสีย/Brigitte Lin เป็นธิดาหัวหน้าพรรคมู่หรง ไหนจะจางม่านอวี้/Maggie Cheung, หลิวเจียหลิง/Carina Lau และหยังไฉ่หนี /Charlie Yeung ซึ่งจากภาพรวมหมู่คณะด้านบนนี้มี *หวังจู่เสียน*/Joey Wong ด้วย เป็นหลักฐานว่าเธอเคยร่วมแสดงหนังเรื่องนี้ แต่ฉากที่เล่นทั้งหมดถูกหั่นออกภายหลัง (ซึ่งก็แล้วแต่เวอร์ชั่นที่ได้ชม อาจได้เห็นเธอในตอนท้ายประมาณ 2 วินาที กับฉากรวมเหล่ายอดฝีมือ) 

Eagle Shooting Heroes ฉบับหว่องกาไว  นำเหล่ายอดฝีมือจากนิยายมาปัดฝุ่นแต่งแต้มรายละเอียดใหม่ ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งพวกเขาเริ่มต้นโลดแล่นอยู่ในยุทธจักร  

หนังเปิดตัวด้วยฉากต่อสู้ท่ามกลางทิวทัศน์แห้งแล้งเวิ้งว้างระหว่างอาวเอี้ยงฮง (Ouyang Feng) กับอึ้งเอี๊ยะซือ (Huang Yaoshi) จากนั้น ก็ย้อนไปเล่าเรื่องให้อาวเอี้ยงฮงเป็นศูนย์กลาง ตั้งตนเป็น *ตัวแทน*  รับจ้างฆ่า มีผู้มาเยือนมากหน้าหลายตาทั้ง *ผู้จ้าง*  และ *ผู้รับจ้างฆ่า*  ขณะเดียวกันพวกเขาก็ค่อย ๆ เปิดเผยความรัก ความหลัง และความเคียดแค้นที่เก็บกดซุกซ่อนอยู่ด้านมืดภายในใจ ผ่านบทสนทนาและสะท้อนผ่านความนึกคิดของอาวเอี้ยงฮงทีละเล็กทีละน้อย 

นั่นก็คือ...ความทรงจำที่รวดร้าวฝังแน่นใต้เงาอดีต  

ธิดาหัวหน้าพรรคมู่หรง (Murong Clan) ผู้ปลอมตัวเป็นชายต้องการจ้างคนสังหารชายที่ตนรัก ด้วยเหตุผลมากมาย  เช่น หลงเชื่อคำสัญญาว่าเขาจะแต่งงานหากเธอมีน้องสาว  ...แต่ความจริงที่แท้คือเธอไม่ต้องการรับรู้ว่าเขารักหญิงอื่น ขณะเดียวกันตัวละครนี้ยังสะท้อนถึงความเชื่อเรื่อง "หยินและหยาง" (Yin/Yang) ของชาวจีนที่แสดงถึงความสมดุลย์ในสรรพสิ่ง เธอแตกแยกเป็นทั้ง *มู่หรง หยิน*(ภาคแต่งตัวเป็นหญิง) และ *มู่หรง หยาง* (ชาย)  เพื่อแบกรับตัวตนที่สับสนและบาดแผลในใจ  เพราะความขมขื่นของความรักกัดกร่อนมนุษย์ให้ซ่อนตัวอยู่ในจินตนาการ ไม่ต่างอะไรจากนกปราศจากอิสรภาพในกรงขัง  ขณะเดียวกันก็เป็นบทที่เป็นสัญลักษณ์ของหลินชิงเสียในโลกแห่งหนังกำลังภายใน ที่โด่งดังสูงสุดในเดชคัมภีร์เทวดาภาค 2 และ 3 (Swordsman II, 1992 และSwordsman III: The East Is Red,1993)

หรือจะเป็นนักฆ่าที่รู้ว่าตากำลังจะบอดเมื่ออายุ 30  แม้เขาใฝ่ฝันจะกลับไปดู *ดอกท้อ*  บาน (Peach Blossom) ที่บ้านเกิด แต่ก็ยังดั้นด้นพิสูจน์คุณค่าของตัวเองต่อไปพร้อมกับเก็บกดความคิดถึงต่อคนรักที่ตนทิ้งให้รอที่หนองน้ำพร้อมกับม้าตัวหนึ่ง ส่วนเด็กสาวที่ต้องการแก้แค้นแทนพี่ชายโดยมีไข่หนึ่งตะกร้าเป็นค่าตอบแทน ก็เป็นเพียง *ตัวแทน* ให้เขานึกถึงสาวคนรักคนนั้น ซึ่งภายหลังปริศนาเผยความเจ็บช้ำออกมาว่าเธอมีใจให้กับเพื่อนรักของเขา 

อึ้งเอี๊ยะซือก็มีอดีตยากจะลืม และในเวลาต่อที่เขาปลีกวิเวกไปอยู่บนเกาะดอกท้อ ก็เป็นเพราะ *ผู้หญิง*  ซึ่งในเรื่องมีทั้งนามจริงว่า *ดอกท้อ*  และ*ดอกท้อ*  ในเชิงสัญลักษณ์ ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสับสน อยู่บ้าง เพราะไม่รู้หมายถึงคนไหนกันแน่ แต่แท้จริงแล้วเธอเป็น *ดอกท้อ* ทั้งคู่ ...ที่เบ่งบานรอคอยชายคนรักมาเชยชม ก่อนร่วงหล่นโรยรา 

สุดท้าย เรื่องก็วนกลับมาอาวเอี้ยงฮง ในที่สุดตัวละครนี้ก็ไม่ต่างจาก *นกไร้ขา*  ใน  Days of Being Wild (1990) ที่หลีกเลี่ยงการถูกละทิ้งด้วยการละทิ้งผู้อื่นก่อน  จนกลายเป็นคนโดดเดี่ยว อ้างว้าง จมปลักอยู่ในภาพอดีตเช่นกัน 

หนังกำลังภายในของหว่องกาไวทำให้ผู้ชมไม่แน่ใจว่าจอมยุทธทั้งหลายมาโลดแล่นบนยุทธจักรเพื่อ *สร้างชื่อ* (รวมไปถึงละทิ้งความรักเพื่ออุดมการณ์) หรือเพื่อ *ลืมอดีตเจ็บช้ำ* กันแน่ เพราะแต่ละคนต่างบาดเจ็บจากความรัก ซึ่งเป็นเหตุและผลซึ่งกันและกัน ต่อเนื่องประหนึ่งลูกโซ่เกาะเกี่ยว  จากการรักคนที่เขาไม่รัก-หลงรักคนของพี่ชายหรือเพื่อนรัก -ละทิ้งความรักเพราะยึดมั่นถือมั่นกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ  จนปล่อย  *เวลา* ผ่านล่วงเลยกลายเป็นอดีตร้าวลึก  ไม่ต่างจากที่หว่องกาไวเคยกล่าวว่า "เรารักในสิ่งที่ไม่อาจมี และไม่อาจมีสิ่งที่เรารัก" (We love what we can't have. And we can't have what we love.) 

*เวลา* จึงเป็นประเด็นสำคัญในหนังทุกเรื่องของหว่องกาไว การตัดสินใจไม่ละทิ้งปัจจุบันอันมีค่าให้กลายเป็นอดีต ทำให้อั้งชิกกง (Hong Qi) ไม่เจ็บปวดเช่นตัวละครอื่น ๆ  เมื่อเขาตัดสินใจพาภรรยาไปท่องยุทธจักรด้วย ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นเคยคิดให้เธอเป็นฝ่ายรอเช่นกัน   

สุราชั้นเลิศมากมายก็ไม่อาจช่วยให้อดีตเหล่านั้นลบเลือน  การมี *เหล้าช่วยลืมอดีต*  จึงเป็นเพียงอารมณ์ขันอันดำมืดของหว่องกาไว ที่อาจส่งสารไปเคาะฝาโลง "โกวเล้ง" ผู้ชื่นชอบการดื่มสุราและเดียวดายใต้เงาจันทร์ก็เป็นได้ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้โดดเด่นด้วยศิลปะแสงสีเงาที่งดงามทั้งปวงในแบบฉบับของหว่องกาไว ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมเรียบแต่เก๋โดย William Cheung คู่ใจคุณผู้กำกับมาเนิ่นนาน และสีสันบรรยากาศตระการตาถ่ายทอดผ่านมุมกล้องโดยผู้กำกับภาพคู่รักคู่ร้าง Christopher Doyle ซึ่งก็กวาดรางวัลตุ๊กตาทองฮ่องกงเฉพาะด้านนี้ในปีนั้น Best Cinematography (Christopher Doyle) ขณะที่ William Cheung ได้ 2 ตัวคือ Best Art Direction และ Best Costume Design

ส่วนหนังไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ และหว่องกาไวกลับไปคว้ารางวัลจากชมรมนักวิจารณ์ภาพยนตร์แทน คือกำกับและเขียนบท แม้ผู้ชมหลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องนี้ดูไม่ค่อยรู้เรื่อง ด้วยฉากที่ตัดสลับปัจจุบัน-อดีตม-ปัจจุบันและการวนเวียนซ้ำซากของคำพูดและสัญลักษณ์ แปลกกว่าหนังกำลังภายในทั่วไปที่มีภาครักและภาคบู๊ชัดเจน

แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ภาพยนตร์ของหว่องกาไวเน้นเรื่อง *อารมณ์* เป็นหลัก จึงขึ้นกับประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชม ที่จะซาบซึ้งกระทบใจกับเรื่องราวหรือถ้อยคำที่สะท้อนออกมา เพราะท้ายที่สุดแล้วเขาจะถ่ายทอดขับกล่อมผู้ชมให้จมดิ่งอยู่ในความรู้สึก*พร่ามัว* แบบนี้เสมอว่า

ความสัมพันธ์ที่เกาะเกี่ยวกันไว้ทั้งหลาย...แท้จริงแล้วกลับเปราะบาง ล่องลอยโบยบินดุจดังสายลม..ยิ่งไขว่คว้า ยิ่งถอยห่าง ไม่อาจจับต้องหรือครอบครองตลอดไป ที่เก็บรักษาได้ก็มีเพียงความคิดถึงอบอวลอยู่ใต้จิตคำนึงหา บาดเจ็บอยู่ภายในโลกแห่งจินตนาการที่กักขังตัวเองไว้