ค้นหาหนัง

Amadeus | อมาเดอุส

หมวดหมู่ :
Amadeus | อมาเดอุส
เรื่องย่อ : Amadeus | อมาเดอุส

Antonio Salieriเชื่อว่า ดนตรีของ Wolfgang Amadeus Mozartนั้นศักดิ์สิทธิ์และน่าอัศจรรย์ เขาอยากให้ตัวเองเป็นนักดนตรีที่ดีเหมือนโมสาร์ทเพื่อที่เขาจะได้สรรเสริญพระเจ้าผ่านการแต่งเพลง เขาเริ่มอาชีพของเขาในฐานะผู้ศรัทธาที่เชื่อว่าความสำเร็จและความสามารถของเขาในฐานะนักแต่งเพลงเป็นรางวัลจากพระเจ้าสำหรับความกตัญญูของเขา นอกจากนี้ เขายังพอใจในฐานะนักแต่งเพลงในราชสำนักที่ได้รับความนับถือและฐานะการเงินดีของจักรพรรดิโจเซฟที่ 2 แห่งออสเตรีย แต่เขาก็ต้องตกใจเมื่อรู้ว่าโมสาร์ทเป็นคนหยาบคาย และไม่เข้าใจว่าทำไมพระเจ้าถึงชอบให้โมสาร์ทเป็นเครื่องมือของเขา ความอิจฉาริษยาของ Salieri ทำให้เขากลายเป็นศัตรูของพระเจ้าที่มีความยิ่งใหญ่ปรากฏชัดใน Mozart เขาพร้อมที่จะแก้แค้นพระเจ้าและโมสาร์ทสำหรับความธรรมดาทางดนตรีของเขาเอง

IMDB : tt0086879

คะแนน : 8



Amadeus (1984) ได้รับการกำกับโดย Milos Forman อันที่จริงชื่อ "Amadeus" นั้น มีที่มามาจากชื่อกลางของโมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้ มีเรื่องราวในยุคของโมสาร์ท ช่วงยุคดนตรีคลาสสิครุ่งเรือง ราวๆศตรวรรษที่ 18 โมสาร์ทคือเด็กอัจฉริยะที่มีพรสวรรค์สูงส่งและได้เข้ามาทำงานในเวียนนา ท่ามกลางกระแสชื่นชมอันมากมาย แต่ทว่าการมาของโมสาร์ท กลับเป็นการกลบรัศมีของ Antonio Salieri นักประพันธ์หลวงผู้ทำงานอยู่ในราชสำนักเวียนนาอยู่เดิม เรื่องราวต่างๆจึงเกิดขึ้น ซึ่งหนังจะเล่าผ่านมุมมองของ Antonio Salieri ในส่วนของรีวิวนี้ ผมยอมรับว่าผมก็ไม่ได้มีความรู้ทางด้านดนตรีคลาสสิคสักเท่าใด ดังนั้นหากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

Amadeus เล่าเรื่องผ่านมุมมองของซัลลิเอลี่ นักประพันธ์หลวงผู้ซึ่งมีปัญหากับโมสาร์ท หนังได้เริ่มต้นในปลายชีวิตของซัลลิเอลี่และ Flashback ย้อนกลับไปเล่าอดีตผ่านความคิดของซัลลิเอลี่ (เป็นการสนทนาระหว่างซัลลิเอลี่กับบาทหลวง) จุดนี้เป็นจุดเด่นแรกของหนังที่ทำให้หนังมีชั้นเชิง การเล่าในมุมมองของศัตรู ทำให้หนังได้อรรถรสมากขึ้น เราจะได้เห็นการรำพึงรำพันของซัลลิเอลี่ ความอิจฉาริษยา การเตะตัดขาคู่แข่งอย่างโมสาร์ท ซัลลิเอลี่อิจฉาในพรสวรรค์ของโมสาร์ทที่ไม่ว่าจะทำอะไร ก็เหมือนพระเจ้าจะคอยโอบอุ้มแต่เขา แต่ถึงกระนั้นซัลลิเอลี่ก็ยอมรับในความสามารถของโมสาร์ทว่า โมสาร์ทคือของจริง พรสวรรค์ของโมสาร์ทประดุจดั่งพระเจ้าประทานมาจริงๆ

ความอัจริยะของโมสาร์ทที่สูงล้ำ เราจะเห็นได้หลายอย่างจากการแหวกทั้งแนวดนตรีในยุคนั้น เช่น โน๊ตดนตรีที่มากเกินไป พร้อมด้วยลูกเล่นเทคนิคแพรวพราว การแหวกธรรมเนียมอุปรากรด้วยการใช้ภาษาเยอรมันในการแสดง (ปกติในแวดวงยุคนั้นจะนับถือภาษาอิตาเลียนเป็นภาษาเอกในการแสดงอุปรากร) การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆหลายอย่างที่หลุดกรอบจารีตในยุคนั้น จนบางทีคนอื่นๆก็ตามไม่ทันและรู้สึกว่ามันใหม่เกินไป

ถ้ามองซานิเอลี่ก็ถือว่าเป็นคนที่เก่งคนหนึ่ง แต่ถ้าเทียบกับความอัจฉริยะของโมสาร์ทก็นับส่าสู้ไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว เขาเป็นคนดีที่เคยศรัทธาพระเจ้าอย่างหมดใจ แต่แล้วเมื่อโมสาร์ทเข้ามาในชีวิต เขาก็รู้สึกว่าพระเจ้าทอดทิ้ง หันหลังให้กับพระเจ้าและขัดขวางโมสาร์ททุกวิถีทาง จนสุดท้ายแม้ซาลิเอลี่จะชนะโมสาร์ทในที่สุด แต่บั้นปลายชีวิตเขาก็มีจุดจบที่ไม่ดีนัก เพราะ ความอิจฉาริษยาที่ไม่สามารถปล่อยวางได้

เรื่องการตีความหนัง หนังค่อนข้างตีความโมสาร์ทในแง่ลบ ซึ่งผมประทับใจในจุดนี้มาก เพราะ ส่วนใหญ่เรามักจะไม่คำนึงถึงจุดนี้มาก่อน โมสาร์ทที่หนังตีความคือ หนุ่มที่ดูเพี้ยนๆ สติไม่เต็มสักเท่าไร ออกจะล้นๆไฮเปอร์ ตลกชอบหัวเราะ ถือทิฐิสูงและใช้เงินสรุ่ยสุร่าย ที่หนังตีความแบบนี้เนื่องมาจากการศึกษาประวัติของโมสาร์ท ถ้าเราลองมาคิดดูโมสาร์ทสามารถแต่งเพลงได้ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ประพันธ์อุปรากรได้ตอนอายุ 11 ปี ดังนั้นมองตรงๆ โมสาร์ทคงจะไม่ใช่คนปกติแน่ๆ เด็กที่ไหนจะแต่งอุปรากรได้ตั้งแต่อายุสิบเอ็ด ความอัจฉริยะส่วนใหญ่ก็มักมาควบคู่กับอาการไฮเปอร์ การตีความในจุดนี้ถือว่าเป็นไปได้ เรื่องโมสาร์ทเป็นคนถือดี ทิฐิสูงนี่ก็เป็นไปได้อีก โมสาร์ทเป็นอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเขาต้องถูกดูแลทะนุถนอมฟูมฟักเป็นอย่างดี ไม่น่าจะมีคนกล้าขัดใจสักเท่าใด (รวมไปถึงการกินดีอยู่ดี จนทำให้ติดนิสัยสุรุ่ยสุร่ายด้วย) จุดนี้เป็นการตีความที่น่าชื่นชม ทำให้ตัวละครมีมิติอย่างมาก

นอกจากการตีความหนังแล้ว ภายในหนัง ยังมีการใช้ดนตรีประกอบภาพยนตร์เป็นดนตรีที่โมสาร์ทแต่งขึ้นสอดแทรกไว้มากมาย ถ้าใครที่เป็นแฟนคลับของโมสาร์ทหรือหลงใหลในดนตรีคลาสสิค รับรองว่า จะได้เต็มอิ่มกับดนตรีจนจุใจ การสอดแทรกดนตรีนี้ก็ไม่ได้สอดแทรกธรรมดา แต่แฝงนัยความหมายหลายๆอย่างเอาไว้ในเรื่องด้วย สำหรับคนที่มีความรู้ทางดนตรีคลาสสิค ผมคิดว่าน่าจะทำให้อินขึ้น (แต่ส่วนผมก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง 555) ในส่วนดนตรีมีทั้งเป็นการแสดงอุปรากรมาเลยและเป็นแค่ดนตรีประกอบคลอไปกับหนัง

จุดแข็งอีกอย่างที่หนังโดดเด่นมากคือ คอสตูมและสถานที่สุดอลังการ ที่ทำให้เราแทบเหมือนได้ย้อนกลับเข้าไปสู่ยุคนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในจุดนี้เองยังทำให้หนังคว้าออสการ์สาขาคอสตูมและสาขาเมคอัพมาได้อีกด้วย

ส่วนข้อเสียหนังก็ไม่ใช่ว่าไม่มี ในจุดนี้ไม่ถือเป็นข้อเสียหนังโดยตรง แต่เป็นความไม่คุ้นเคยของผมมากกว่า ด้วยความที่หนังยาวถึงเกือบสามชั่วโมง ผมก็ยอมรับว่าบางทีผมอาจไม่อึดพอ มีหลุดบ้าง มีโมเมนต์ง่วงบ้าง หนังเรื่องนี้สร้างในปี 1984 (ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว !!!) การดำเนินเรื่องของ Amadeus จึงยังดำเนินเรื่องแบบหนังยุคเก่า ไม่กระชับฉับไว (แต่ยังอัดแน่นด้วยเนื้อหานะ) คนในยุคนี้ดูแล้วอาจรู้สึกเบื่อหรือเนือยได้ และในบางฉากหนังใส่เป็นอุปรากรล้วนๆเลย 10 กว่านาที ผมก็หูไม่ถึง ฟังก็ไม่ออก ก็อาจจะมีง่วงๆในจุดนี้บ้าง (แต่ถ้าใครที่ชอบอุปรากรดนตรีคลาสสิครับรองจุใจมาก)

สำหรับผม Amadeus (1984) ผมให้คะแนน 8.3/10 (เป็นหนังตีความที่น่าสนใจและอัดแน่นด้วยเรื่องราว) Amadeus ถือเป็นหนังดีที่มีบทเรื่องที่แข็งแกร่งและองค์ประกอบหนังค่อนข้างสมบูรณ์ ในแง่ความสนุกแบบหนัง Blockbuster นี่ถ้าใครคาดหวังก็ลืมไปได้เลย Amadeus เป็นแนวหนังรางวัลมากกว่า สนุกไปอีกแบบหนึ่งกับการได้ดูการตีความโมสาร์ทรูปแบบใหม่ การแสดงอันยอดเยี่ยมของนักแสดง คอสตูมสุดอลังการ ดนตรีคลาสสิคอันทรงคุณค่า หนังอาจจะไม่ได้เล่าตรงกับความจริง 100% แต่ว่าก็ว่าถือว่าทำได้สมเหตุสมผล แล้วถ้าใครรักในดนตรีคลาสสิค Amadeus ถือว่าพลาดไม่ได้เด็ดขาด

สุดท้ายนี้ ก็ขอประกาศเกียรติคุณหนังหน่อย Amadeus คว้าออสการ์ถึง 8 รางวัล ได้แก่ ได้แก่ Best Picture, Best Director, Best Costume Design, Best Art Direction-Set Decoration, Best Actor in a Leading Role, Best Writing Screenplay, Best Sound และ Best Makeup คุณภาพขนาดนี้ ก็อยากแนะนำให้ได้ดูกันนะครับ